Vie Trio : ดนตรีคลาสสิคที่สัมผัสได้ | Sanook Music

Vie Trio : ดนตรีคลาสสิคที่สัมผัสได้

Vie Trio : ดนตรีคลาสสิคที่สัมผัสได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


ในสังคมไทย และสังคมอื่นๆ ในโลกดนตรีคลาสสิกถูกมองว่าเป็นดนตรีสำหรับสังคมชั้นสูง และยากที่จะสัมผัส แต่ด้วยกระแสสังคม ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และในที่สุดก็คุ้นเคยกับดนตรีเพียงบางประเภท จนบางครั้งทำให้พวกเขาปฏิเสธที่บริโภคสิ่งดนตรีแนวอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย

หลังจากที่หลายคนได้ทำความรู้จักกับ 3 พี่น้องครอบครัว ศรีณรงค์ ในบทบาทของนักเรียนทุนดนตรีคลาสสิคในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ผ่านทางรายการ จับเข่าคุย ไปบ้างแล้ว หลายคนก็เกิดความสนใจในฝีไม้ลายมือการเล่นดนตรี มุมมองความคิด รวมถึงบุคลิกของ 3 พี่น้อง วันนี้เราจึงมีภาพบางส่วนของ 3 พี่น้องคนเก่ง เป้-ป่าน-ปุย แห่งครอบครัวศรีณรงค์มาให้ได้ชมเรียกน้ำย่อยกัน

นับจากปี 2547 ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงดำริให้มีการสร้างทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิค เพื่อเป็นการสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรทางดนตรีคลาสสิคโดยพระองค์ท่านทรงรับเป็นองค์ประธานและองค์อุปถัมภ์นั้น กองทุนดังกล่าวก็ได้สร้างบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาดนตรีคลาสสิคในไทยด้วยดีตลอดมา รวมถึงครอบครัว ศรีณรงค์ ที่มีพื้นฐานทางดนตรีคลาสสิคจากครอบครัวโดยมีคุณพ่อ คือ อ. สุทิน ศรีณรงค์ ผู้อำนวยการด้านดนตรีและผู้อำนวยเพลงวงดุริยางค์เยาวชนไทยในปัจจุบันให้การปลูกฝังลูกๆ ทั้งสามคน และ 2 ใน 3 คนก็เป็นนักเรียนทุนในโครงการดังกล่าว เริ่มจากพี่ชาย คือ เป้- ทวีเวท ศรีณรงค์ นักเรียนทุนดนตรีเพื่อส่งเสริมดนตรีคลาสสิคในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ



ทวีเวท ศรีณรงค์ หรือ เป้ นักดนตรี ไวโอลิน ปัจจุบันอายุ 27 ปี หนึ่งในนักเรียนทุนผู้ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ประทานทุนส่วนพระองค์ให้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาดนตรีคลาสสิค เผยว่า ระหว่างจะขึ้นชั้นเรียนปีที่ 2 ที่ Royal Academy of music ประเทศอังกฤษ ประเทศไทยเผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ "ช่วงนั้นมีผู้ใหญ่ที่เมืองไทยเห็นว่าผมเล่นดนตรีคลาสสิคมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จึงได้กราบทูลให้พระองค์ท่านได้รับทราบ และจากนั้นประทานทุนส่วนพระองค์ให้เรียนต่อ ผมและครอบครัวรู้สึกปลาบปลื้มมาก และคิดว่าโชคดีมากที่พระองค์ท่านทรงเมตตาให้ทุนส่วนพระองค์ตกปีหนึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากมาย ซึ่งถือว่าเป็นพระกรุณาธิคุณที่ทดแทนพระองค์ท่านได้ไม่หมด หากไม่มีพระองค์ท่านคงไม่ได้เรียนต่อจนทุกวันนี้ โดยหลังจากจบปริญญาตรีแล้ว พระองค์ยังประทานทุนเรียนต่อในระดับอนุปริญญาตรีอีกใบหนึ่ง และต่อด้วยการเรียนระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา"

ปัจจุบัน ทวีเวทกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านดนตรีที่ มหาวิทยาลัยเยล หากนับแล้วอาจถือว่าเป็นประกาศนียบัตรใบที่ 5 ของเขาซึ่งถือว่าไม่น้อยกับการมุ่งมั่นทางวิชาชีพแขนงนี้

ในขณะที่น้องสาวคนรอง ป่าน- อุทัยศรี ศรีณรงค์ นักดนตรี เชลโล วัย 25 ปี ฝึกฝนดนตรีด้วยการเริ่มเล่นเปียโนมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ต่อมาจึงเริ่มหัดเล่นไวโอลิน และเริ่มสนใจการเล่นเชลโลอย่างจริงจังเมื่ออายุ 14 ปี เมื่อเข้าเรียนใน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปี 2 อุทัยศรีได้รับทุนจากสมเด็จพระพี่นางฯ ให้เข้าเรียนต่อทางด้านดนตรีคลาสสิคที่ Hong Kong Academy for Performing Arts โดยตั้งใจจะเลือกเส้นทางนักดนตรีเป็นอาชีพ

รวมทั้งน้องสาวคนเล็ก ปุย- พินทุสร ศรีณรงค์ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 ก็มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อยไปกว่าพี่ๆ ในฐานะนักดนตรี ไวโอลิน ทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองในตำแหน่ง หัวหน้าวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และยังรับงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีควบคู่กับการเรียนไปด้วย

หากคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน ก็คงอยากรู้อีกเช่นกันว่า เหตุใดพวกเขาจึงสนใจในศาสตร์ของดนตรีคลาสสิก ทั้งที่ด้วยวัยเเพยงเท่านี้ ก็ได้คำตอบที่เฉียบคมจากพวกเขาว่า

"การที่เราทั้งสามคนเติบโตมากับสังคมดนตรีคลาสสิก พร้อมๆ กับเพลงกระแสนิยม ทำให้เรามองเห็นช่องว่างของดนตรีประเภทดังกล่าว กับดนตรีคลาสสิก และต้องการลบช่องโหว่นั้นทิ้งไป ดังนั้นเมื่อเรามีโอกาสทำอัลบั้มครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะทำให้คนเปลี่ยนทัศนะคติกับดนตรีคลาสสิก โดยทำให้พวกเขามองเห็นว่า ดนตรีคลากสิกไม่ใช่ดนตรีสำหรับสังคมชั้นสูง แต่มันเป็นดนตรีสำหรับทุกๆ คน ไม่ต้องใส่สูธผูกไท นั่งฟังตัวแข็งในโรงละครเท่านั้น เราต้องการให้ดนตรีคลาสสิกกลายเป็นดนตรีที่คนไทยคุ้นเคย และรู้สึกสบายๆ กับมันมากกว่า โดยการใช้เครื่องดนตรีคลาสสิกบรรเลงให้มีความร่วมสมัย และมีลักษณะของดนตรีประเภทที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ป๊อบ แรพ และร็อคเป็นต้น ทั้งนี้เราไม่ได้เอาดนตรีคลาสสิกมาทำให้เป็นดนตรีร่วมสมัยเท่านั้น แต่เราทำให้ท่วงทำนองของดนตรีคลาสสิกมาเรียบเรียงในลักษณะที่นิยมในปัจจุบันด้วย ซึ่งจะเป็นการ educate คนไทยทางอ้อม และนี่คือจุดเชื่อมโยงระหว่างดนตรีสองประเภทที่เรากล่าวถึง"

อย่างไรก็ตามเพลงลักษณะบรรเลงนี้เป็นเพลงแนวใหม่ของวงการเพลงกระแสหลักบ้านเรา เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกคุ้นเคยกับมันเร็วขึ้น เราจึงอยากให้มองเพลงในอัลบั้มนี้ว่าเป็น Song Without Word ซึ่งก็คือ เพลงร้องที่ไม่มีเนื้อ เราอยากให้ทุกคนฟังท่วงทำนอง แล้วใช้จินตนาการ และ ความรู้สึก เพื่อสัมผัสกับนิยามของแต่ละเพลง และเราเชื่อว่านิยามที่ผู้ฟังคิด จะเป็นนิยามที่ดีที่สุด เพราะมันเกิดจากความรู้สึกของผู้ฟังเอง



Vie Trio : กับบทบาทใหม่ในฐานะศิลปิน

เร็ววันนี้พวกเขากำลังจะมีอัลบั้มแรกของตัวเอง อันเป็นการทำงานร่วมกันของ 3 พี่น้องในฐานะนักดนตรี หากแต่ครั้งนี้คือความท้าทายที่แปลกออกไปจากการแสดงในครั้งไหนๆ เพราะนี่คืออัลบั้มที่พวกเขามีเพลงของตัวเอง ในสไตล์ที่เป็นตัวเอง และนำเสนอด้วยตัวเอง ในนาม Vie Trio (วี ทรีโอ) ภายใต้สังกัดของ เอ็กแซคท์ โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า Miracle ซึ่งจะหมายความเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากความมหัศจรรย์ที่พวกเขาประยุกต์เอาเพลงป๊อปและดนตรีคลาสสิคมาเชื่อมโยงกัน


ชมภาพพร้อมเรื่องราวของ เป้ ป่าน ปุย นักเรียนทุนดนตรีในสมเด็จพระพี่นางฯ
ร่วมพูดคุยพร้อมแชทสดๆ กับ Vie Trio 11 ก.ค. นี้ เวลา 17.00 น.
สัมผัสเสียงเพลง!..ได้ที่นี่ เพลงไทย-สากล เก่า/ใหม่ มีให้เลือกฟังทุกแนว หาซื้อง่ายแค่ปลายคลิก!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook