อิงค์-อชิตะ เผยนาทีเฉียดตายช็อคน้ำทะเลลึก ปากเบี้ยว ตัวชา | Sanook Music

อิงค์-อชิตะ เผยนาทีเฉียดตายช็อคน้ำทะเลลึก ปากเบี้ยว ตัวชา

อิงค์-อชิตะ เผยนาทีเฉียดตายช็อคน้ำทะเลลึก ปากเบี้ยว ตัวชา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


อิงค์-อชิตะ ดารานักร้องสุดเซอร์ หวิดดับ!! หลังเกิดอาการน็อคน้ำทะเล ต้องรีบส่งตัวเข้าโรงพยาบาลด่วน เจ้าตัวเล่านาทีระทึก ปากเบี้ยว-ลำตัวชา-ได้ยินเสียงแว่ว แพทย์ชี้ถ้ามาช้าอัมพาตแน่ สั่งห้ามดำน้ำ 3 เดือน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พล.ร.ต.นิกร เพชรวีระกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า มีกลุ่มนักดำน้ำจาก อ่าวแสมสาร ขอรับการสนับสนุนรถกู้ชีพ ไปรับพระเอกหนัง-นักร้องชื่อดัง คือ อิงค์-อชิตะ ปราโมช ณ อยุธยา อายุ 37 ปี ที่บริเวณสะพานเทียบเรือแสมสารฟิชชิ่ง แสมสาร เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยกะทันหันขณะดำน้ำ หรือ น็อคน้ำทะเล ในระดับน้ำลึกประมาณ 21 เมตร จึงจัดรถไปรับและนำตัวมารักษาในห้องแชมเบอร์ หรือห้องปรับบรรยากาศแรงดันอากาศสูงอย่างเร่งด่วน ล่าสุด อิงค์ อชิตะ พ้นขีดอันตรายแล้ว

อิงค์เปิดเผยว่า พร้อมเพื่อนครูฝึกสอนดำน้ำ 6 คน ดำน้ำลงไปจะชมเรือจม แต่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์แปลกซึ่งไม่เคยพบมาก่อน คือ ถูกน้ำดูดลงไปอย่างรวดเร็วและผลักขึ้นมาเร็วกว่าฟองอากาศ เมื่อมาถึงผิวน้ำได้ถอดหน้ากากออก เพื่อนๆ จึงช่วยกันประคองขึ้นจากน้ำ ขณะนั้นร่างกายไม่ตอบสนอง รู้สึกปากเบี้ยว ลำตัวซีกซ้ายชาไม่รู้สึก ได้ยินแต่เสียงคนพูดแว่วๆ แต่ไม่สามารถตอบรับหรือพูดด้วยได้ ซึ่งแพทย์บอกว่าถ้าขืนมาช้า หรือเกินกว่า 4 ชั่วโมง จะเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ เพราะฟองอากาศจะเข้าไปอุดตันในเส้นเลือดแดง จากนี้ต้องไม่ดำน้ำอีกอย่างน้อย 3 เดือน หรือไม่ดำได้ยิ่งดี

ล่าสุด ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จ.ชลบุรี เผยอาการของ อิงค์-อชิตะ ดีขึ้นมากแล้ว หลังเจ้าตัวไปดำน้ำและขึ้นลงน้ำอย่างเร็ว ทำให้เกิดอาการ น็อคน้ำ หรือ น้ำหนีบ ระบุหากรักษาไม่ทัน อาจเป็นอัมพาตหรือถึงขั้นเสียชีวิต

พล.ร.ต.นิกร เพชรวีระกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จังหวัดชลบุรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ ข่าวเช้าโมเดิร์นไนน์ ถึงอาการน็อคน้ำของ อิงค์-อชิตะ ปราโมช ณ อยุธยา ดารานักร้อง ว่า อิงค์-อชิตะอาการดีขึ้นมากแล้ว ภายหลังได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดกับนักดำน้ำทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ที่ขึ้นลงน้ำด้วยความรวดเร็ว ทำให้มีอาการแขนขาชาจนถึงหมดสติ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว และแจ้งประวัติกับแพทย์ว่าเกิดจากการดำน้ำ ไม่ใช่การจมน้ำ ไม่เช่นนั้นจะทำให้การรักษาผิดได้

พล.ร.ต.นิกร กล่าวต่อว่า การรักษาอาการจากการดำน้ำ ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ไฮเปอร์ บาร์ริก แชมเบอร์ (Hyper Barric Chamber) ซึ่งเครื่องมือนี้มีในโรงพยาบาลไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวนิยมดำน้ำ เช่น ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จังหวัดชลบุรี หากสถานที่เกิดเหตุไม่มีเครื่องมือนี้ การรักษาเบื้องต้นจะต้องให้ออกซิเจนอย่างเพียงพอ และภายใน 6 ชั่วโมง ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือดังกล่าว ซึ่งหากรักษาไม่ทัน อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ และบางรายต้องหยุดพักการดำน้ำเป็นเวลา 3 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

รายงานข่าวระบุว่า อาการน็อคน้ำ จะรู้จักกันดีในชื่อ โรคน้ำหนีบ (Caisson Disease) โดยมีฟองอากาศในเลือด เกิดจากการดำน้ำลึกๆ ซึ่งมีแรงดันอากาศภายนอกสูงมาก เมื่อขึ้นมาจากใต้น้ำเร็ว จะทำให้แรงดันอากาศลดลงอย่างรวดเร็ว ก๊าซต่าง ๆ ที่ละลายในเลือดกลายเป็นฟองอากาศ และไปอุดตันตามหลอดเลือด ทำให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เกิดการหมดสติอย่างกะทันหัน หรืออัมพาตบางส่วน

ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook