เปิดปูมเพลงไทย-เกาหลี ลูกทุ่งร้องมากว่า50 ปีแล้ว | Sanook Music

เปิดปูมเพลงไทย-เกาหลี ลูกทุ่งร้องมากว่า50 ปีแล้ว

เปิดปูมเพลงไทย-เกาหลี ลูกทุ่งร้องมากว่า50 ปีแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


ขณะที่กระแสคลั่งไคล้ศิลปินดารานักร้องเกาหลีกำลังมีอิทธิพลกับวัยรุ่นไทยจนมีนักร้องชายที่แต่งตัวแนวเด็กวัยรุ่นเกาหลี หรือร้องเพลงภาษาเกาหลีปนไทยกันอย่างโก้เก๋ ราวกับว่าเป็นของแปลกใหม่ซะงั้น

แต่ถ้าย้อนหลังไปกว่า50 ปีวงการลูกทุ่งไทย ครูเพลงชื่อ เบญจมินทร์ ท่านเป็นผู้ริเริ่มนำภาษาเกาหลีมาใส่ในเพลงไทยก่อนใครๆ เสียอีก ครูได้พบกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในงานวันเกิดของท่าน จอมพลสฤษดิ์ เกิดถูกชะตาและรับเขาเข้าเป็นทหาร ต่อมาครูตัดสินใจสมัครไป สมรภูมิเกาหลี ตามคำชวนของนายทหารกองดุริยางค์ทหารในปี 2499 เบญจมินทร์ ไปอยู่ที่เกาหลีนาน6 เดือน

เมื่อกลับมาเขาก็แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีมากมายหลายเพลง ทั้ง อารีดัง, เสียงครวญจากเกาหลี, รักแท้จากหนุ่มไทย และ เกาหลีแห่งความหลัง ต่างก็ได้รับความนิยมสูงสุด ทูล ทองใจ คือลูกศิษย์คนแรก ซึ่งเพลง โปรดเถิดดวงใจ ที่ครูแต่งให้จนเป็นเพลงอมตะของวงการเพลงจนถึงทุกวันนี้

วันที่ 10 มีนาคมเป็นวันครบรอบการจากไปครบ 14 ปีของ ครูตุ้มทอง โชคชนะ หรือ ครูเบญจมินทร์ ที่มีผลงานเพลงประทับใจมากมายกลายเป็นเพลงอมตะของวงการเพลงจนถึงทุกวันนี้

ครูเบญจมินทร์ ได้รับการขนานนามว่าราชาเพลงรำวง ตั้งแต่ปี 2490 สมัยที่ ครูเบญจมินทร์ เริ่มมีชื่อเสียง เพลงของท่านเกือบทั้งหมดจะเป็นเพลงจังหวะรำวง เช่นเพลง เมขลาล่อแก้ว, รำวงแจกหมาก, แมมโบ้จัมโบ้, รำวงฮาวาย, รำเต้ย ฯลฯ

ตุ้มทอง โชคชนะ คือชื่อจริงของครูเบญจมินทร์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2464 ที่ จ.อุบลราชธานี จบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานีรักการร้องเพลงมาตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบเนื่องจากต้องติดตามแม่ไปเข้าโบสถ์โรมันคาทอลิกอยู่เสมอ แต่มาสนใจการร้องและแต่งเพลงอย่างเอาจริงเอาจังเมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาครูเขียนเล่าถึงวิธีการแต่งเพลงของท่านว่า

"ผมรู้จักเพลง พรานบูรณ์ นารถ ถาวรบุตร เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โน่น รู้สึกชื่นชมและพยายามที่จะศึกษาเนื้อเพลงและทำนองเพลงของท่านอยู่เสมอ โดยการนำมาอ่านท่อง และการอ่านท่องนี่เองก็เกิดความรู้เรื่องการสัมผัสคำ อักขระ พยัญชนะ วรรคตอน รู้จักว่าการให้เสียงสูงนั้นมักจะเป็นรูปไม้โทเสมอ การให้เสียงต่ำนั้นมักเป็นรูปไม้เอกเสมอ นิดๆ หน่อยๆ เหล่านี้ ก็ศึกษาเอาเอง โดยไม่มีครูสอนแม้แต่คนเดียว ผมเริ่มฝึกแต่งเพลงโดยนำทำนองเพลงไทยเดิมมาเขียนเนื้อร้องใหม่ใส่เข้าไป แล้วก็ลองร้อง เพื่อนฝูงฟังแล้วปรบมือให้บอกว่าใช้ได้ เท่านั้นแหละความมุมานะในการแต่งเพลงที่จะให้แปลกออกไปจากเพลงเดิมก็เกิดขึ้น

ผมแต่งเพลงแรกในชีวิตเมื่ออายุประมาณ13-14 ปี (พ.ศ. 2477-2478) ผมมีน้องสาวเล็กๆ อยู่คนหนึ่ง ความจริงไม่ใช้น้องแท้ๆ แต่เป็นลูกของคนใช้ในบ้าน อายุขวบเศษๆ ชื่อ สำเนียง แม่ชื่อ ละมุน ปีนั้นเดือนพฤศจิกายนเริ่มต้นฤดูหนาว ว่างๆ วันไหนไม่ได้ไปโรงเรียนมักจะไปเล่นกับอีหนูสำเนียง พอง่วงก็กล่อมให้หลับ วันนั้นเกิดอารมณ์ประหลาด เอาสำเนียงลงเปลก็เห่กล่อม กล่อมไปกล่อมมากลายเป็นเพลงอะไรที่แปลกประหลาดขึ้นมาก็ไม่รู้ มีเนื้ออยู่ว่า "นี่แน่ะ...ขวัญใจของพี่นี่เอ๋ยลมหนาวรำเพยพัดยอดพฤกษา เย็นอุรานักเอย..." กลายเป็นเพลงไทยสากลขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็เริ่มแต่งเพลงอย่างชนิดที่ไม่มีปริญญาที่ไหนเขารับรอง ความรู้สึกในการแต่งเพลงนั้นเหมือนน้ำซึมบ่อทราย ผมจะแต่งเพลงเมื่อมีความรู้สึก มีอารมณ์ มีความรักหลายๆ ชนิดเข้ามาพัวพันในหัวใจ"

วันที่10 มีนาคม2537 ครูเบญจมินทร์ ล้มป่วยที่บ้านพักหลังสุดท้ายหลังโรงเรียนเรวดี ริมคลองประปา มี ป้าน้อม สิงห์คู่ พร้อมลูกๆ คอยดูแลครูในบั้นปลายชีวิตนำครูส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ครูเสียชีวิตในรถแท็กซี่ เวลาประมาณ 03.00 น.นั่นเองแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว เป็นการปิดตำนานของราชารำวงที่แต่งเพลงเกาหลีเป็นคนแรกของเมืองไทยในวัย 73 ปี

สนับสนุนเนื้อหาข่าวโดย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook