โฆษกจอมสร้าง "เด็ดดวงดอกรัก" | Sanook Music

โฆษกจอมสร้าง "เด็ดดวงดอกรัก"

โฆษกจอมสร้าง "เด็ดดวงดอกรัก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โฆษกนักจัดรายการวิทยุกับนักร้องลูกทุ่งอยู่เคียงข้างกันมาแต่ไหนแต่ไรนอกจากเป็นผู้คอยนำบทเพลงไปสู่คนฟังแล้ว บางคนยังเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมนักร้องให้มีชื่อเสียงโด่งดังอีกด้วย

เด็ดดวง ดอกรัก (คุ้มชนะ) อดีตนักจัดรายการชื่อดังของสถานีวิทยุท.อ.04 ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ปั้น ยอดรัก สลักใจ จนกลายเป็นนักร้องดังของวงการเพลง ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" มีโอกาสสนทนากับอดีตโฆษกวิทยุผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการเพลงลูกทุ่งที่เขาประสบมา

"ผมเป็นคนบ้านนอก เริ่มจัดรายการเมื่อปี 2502 จัดทั้งเพลงทั้งข่าว ชื่อรายการ "ขวัญใจชาวบ้าน" ออกอากาศเวลา09.00-10.00 น.ทุกวัน เมื่อก่อนไม่มีทีวี วิทยุจึงเหมือนเป็นเพื่อนตายของคน ใครที่จัดรายการถูกใจคนฟังแล้วจะมีชื่อเสียงมาก การจัดรายการสมัยก่อนช่วยเหลือสังคมเยอะ จังหวัดไหนอากาศหนาวเราก็เอาของบริจาค เสื้อผ้า ผ้าห่ม ไปให้ ความผูกพันกับคนฟังเลยมีมาก สมัยก่อนเพลงลูกทุ่งแบบชาวบ้าน ผู้แต่งจะบรรยายเนื้อเพลงออกมาตามลักษณะของท้องถิ่นนั้นๆ ใครรักใครชอบ ใครบรรยายออกมาให้รู้หมดไม่มีการจ้างเปิดเพลง โฆษกต้องไปซื้อแผ่นเสียงมาเอง ไม่มีผลประโยชน์ เพลงที่ดังเลยมาจากธรรมชาติจริงๆ แล้วดังนาน เพลงเดียวนักร้องเดินสายกันทั้งปี การจัดรายการก็ดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่ายุคนี้ สมัยนั้นมันมีความสุขทั้งคนฟังและคนจัด"

เมื่อถามถึงการทำเพลงให้ยอดรักในช่วงนั้นเป็นอย่างไรอดีตนักจัดรายการชื่อดังแห่งตาคลี บอกว่า เป็นความบังเอิญที่ไปเจอยอดรักร้องเพลงของ ไพรวัลย์ ลูกเพชร จึงรู้สึกถูกใจ เลยอยากผลักดัน

"ไปเจอยอดรักที่ร้านอาหารบ้านไร่ ผมนั่งกินข้าวกับเพื่อน ไอ้แอ๊ว (ชื่อเล่นยอดรัก) มันร้องเพลง "ใต้เงาโศก" "คนไร้ค่า" ของ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ซึ่งผมรัก ชอบพอกันมาก ทีแรกนึกว่าไพรวัลย์มา เพื่อนบอกว่าไม่ใช่ เลยให้เพื่อนไปตามมาดูหน้า ตอนนั้นมันไว้ผมทรงฮิปปี้ ไม่หล่อ เลยบอกว่าร้องเพลงได้ดีมาก ไม่อยากให้มาร้องอยู่แบบนี้ อยากเป็นนักร้องอัดแผ่นไหม จะช่วยส่งเสริม แต่ขออย่าง ให้เลิกกินเหล้า เพราะมันจะทำให้เสียงเสีย ผมเลยพามาฝากกับเพื่อนรุ่นน้องที่ชื่อ ชลธี ธารทอง (ศิลปินแห่งชาติ) ให้ฝึกให้ แต่มันอยู่กับเขา 5 ปีก็ไม่ดัง จนมันชวนผมเลิก"

คำชักชวนของยอดรักดูไร้ความหมายเมื่อเด็ดดวง ยอมขายที่นา เพื่อนำเงินมาทำเพลงต่อ เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเขามองคนไม่ผิด และความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จย่อมตามมา

"แอ๊วมันชวนผมเลิกทำเพลง มันสงสารผม แต่ผมเชื่อในหูตัวเอง ว่าไม่น่าพลาด ผมเลยขายที่นาไปเกือบ 3 ไร่ ได้เงินมา 2 ล้านบาท ผมเลยไปหา สนิท มโนรัตน์ ให้แต่งเพลงเกี่ยวกับทหารตำรวจให้ ระยะนั้นกำลังมีปัญหาชายแดนก็ได้เพลง "ทหารเรือมาแล้ว" อัดเสร็จหิ้วไปให้ห้างแผ่นเสียง แต่ไม่มีใครเอา เขาบอกว่ามันไม่ดังหรอก ผมเลยเอาไปให้ มนต์ เมืองเหนือ ตอนนั้นไม่มีผลประโยชน์อะไรมาก นอกจากวงดนตรี ผมอาศัยโฆษกจากทั่วประเทศ"

เด็ดดวงย้อนเสี้ยวชีวิตที่ได้ปั้นนักร้องนาม ยอดรัก สลักใจ ก่อนที่จะหันมาสร้าง ดุษฎี ดอกรัก หรือ รุ่ง สุริยา ส่วนการทำเพลงสมัยก่อนแตกต่างจากสมัยนี้อย่างไร เด็ดดวง อธิบายว่า

"ตอนนั้นมันมีแต่เพลงลูกทุ่งเป็นส่วนใหญ่ การเขียนเพลงเขาก็ถ่ายทอดออกมาจากใจ คนร้องก็ร้องออกมาจากข้างใน เดี๋ยวนี้มีเพลงสตริงมาแข่งด้วย ลูกทุ่งเลยซบเซาไปบ้าง เมื่อก่อนเราใกล้ชิดกับวัฒนธรรมอยู่กับธรรมชาติ ตอนหลังพอเขามาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประชาชนเลยแย่ ความคิดมันสมองเลยไม่ค่อยประณีตเท่าไร คนเปลี่ยนแนวฟังแต่จะเปลี่ยนอย่างไร เพลงลูกทุ่งก็ยังไม่ตายไปจากคนต่างจังหวัด แต่ตอนนี้คนที่ทำเพลงต้องมีสายป่านที่ยาว"

สำหรับค่ายเพลงชื่อ "ดีร้องดี" ที่มีนาย ธนบดี คุ้มชนะ ทายาทของเด็ดดวงเป็นผู้ดูแลนั้น เขาจะมีวิธีบริหารอย่างไร เพราะรสนิยมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป และการตลาดก็เข้าสู่ยุคใหม่

"บริษัท ดีร้องดี ลูกชายผม เขาเป็นคนดูแล ผมคงดูแลได้ไม่เต็มที่ เพราะตอนนี้มาทำงานด้านการเมือง ลูกคนนี้เขาเหมาะกับงานด้านนี้ เขาฟังเพลงเป็น จะมีแต่เงินอย่างเดียวไม่ได้ ผมก็มาช่วยเขาดูบ้าง นักร้องที่เขามีอยู่เสียงดีหลายคน ที่ผมจำได้ก็ ออมสินเมริสา ธนาคาร ยอดรัก แต่ก็อยู่ที่ดวงของเด็กเพลงดีร้องดีถ้าไม่มีเงินก็ไม่ได้ ผมกลัวอย่างเดียวถ้าใช้เงินนำหน้า มันจะทำให้ลูกทุ่งเสื่อม อีกอย่างด้วยทุกวันนี้ผลประโยชน์มีมาก ทำให้นักร้องเสียงดีๆ ไม่ค่อยได้เกิด เพราะเขาทำเพลงแบบบังคับใฟ้ฟัง เมื่อก่อนเขาเปิดเพลงตามคำขอ ผมห่วงเรื่องนี้"

สนับสนุนเนื้อหาข่าวโดย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook