"รุ้งงาม" ทอแสง ดนตรีคลาสสิคไทย | Sanook Music

"รุ้งงาม" ทอแสง ดนตรีคลาสสิคไทย

"รุ้งงาม" ทอแสง ดนตรีคลาสสิคไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


ความสนพระทัยส่วนพระองค์ด้านดนตรีคลาสสิค ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทำให้วงการดนตรีคลาสสิคในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักตื่นตัวขึ้นมาก

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เยาวชนไทยจึงพัฒนาและมีผลงานในเวทีระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง

คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม เล่าว่า ในปีพ.ศ.2547 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงดำริให้จัดตั้ง "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิคฯ" โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานและทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมด้วยการให้ทุนการศึกษาหรือฝึกอบรมแก่นักดนตรีไทยและให้ทุนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางไปแข่งขันหรือการแสดงดนตรีทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นประธานการสัมภาษณ์ผู้ขอรับทุนและเป็นองค์ประธานในการพระราชทานทุนการศึกษาด้วย ปัจจุบันมีเยาวชนที่ได้รับทุนแล้ว 20 ราย ที่สำคัญพระองค์เสด็จทรงเป็นประธานในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิคฯ มาตลอด แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะให้ศิลปินไทยพัฒนาความสามารถของตนให้เทียบเท่าระดับนานาชาติ

จากที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนรา ธิวาสราชนครินทร์ สนพระทัยการฟังดนตรีคลาสสิคเป็นพิเศษ โดยภายหลังจากที่ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิคของนักเรียนที่พระราชทานทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิคนั้น ทรงมีพระดำริว่า "เราไม่มีสถาบันสอนดนตรีคลาสสิคในประเทศ" ด้วยเหตุนี้ในโอกาสปีมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 6 พฤษภาคม 2550 รัฐบาลมีมติให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน (เดิม) ในส่วนด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เชิงสะพานพระราม 8 โดยมีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ใช้งบดำเนินการกว่า 800 ล้านบาท

ขณะนี้รัฐบาลให้งบประมาณเบื้องต้นในการจัดสร้างมาแล้วประมาณ 22 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 ปีจะแล้วเสร็จ ส่งผลให้ประเทศไทยมีสถาบันการเรียนการสอนด้านดนตรีคลาสสิคที่เปิดรับสมัครนักเรียนที่สนใจในสาขานี้เข้ามาศึกษาได้ ระยะแรกอาจจะรับนักเรียนในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อผลิตนักเรียนเข้าสู่การศึกษาต่อในคณะดุริยางคศาสตร์ ระดับมหา วิทยาลัย จากนั้นในระยะต่อไปจะขยายการสอนไปยังระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับประถมศึกษาต่อไป

คุณหญิงไขศรีกล่าวว่า ในการผลิตนักดนตรีคลาสสิคของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนานั้น สถาบันจะคำนึงถึงความเสมอภาคและความหลากหลายในการจัดการเรียนการสอนภายใต้ปณิธาน "พัฒนาพรสวรรค์ สรรค์สร้างคีตกวี ผลิตนักดนตรีสู่สากลโลก" เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถทางดนตรีแต่ด้อยโอกาสเข้ารับทุนการศึกษาเพื่อเรียนในสาขานี้ได้ด้วย

โดยสถาบันจะคัดเลือกเด็กที่มีความพร้อมและมีพื้นฐานทางดนตรี ขณะเดียวกันหลักสูตรที่ใช้สอนประยุกต์จากต่างประเทศมาอ้างอิงด้วย

ในเบื้องต้นจะเชิญอาจารย์ผู้สอนจากต่างประเทศมาสอนร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทย โดยสถาบันยังมีหน้าที่พัฒนามาตรฐาน และกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานความรู้ ความสามารถและทักษะด้านดนตรีคลาสสิคของนักดนตรีในประเทศเพื่อเทียบเคียงมาตรฐานสากลด้วย

"ดิฉันเชื่อว่าอนาคตจะต้องขยายหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อให้เป็นสถาบันด้านดนตรีคลาสสิคที่สมบูรณ์และมีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าด้วยพระปณิธานของพระองค์ท่านจะเป็นแรงผลักดันให้เรามีศิลปินเอกระดับโลกได้ ที่สำคัญดิฉันคิดว่าภายหลังจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อกาลเวลาผ่านไปสิ่งที่เหลืออยู่คือ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ซึ่งจะถือเป็นอนุสรณ์ให้พวกเราชาวไทยทุกคนสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งกระทรวงวัฒน ธรรมจะจัดแสดงนิทรรศการแสงหนึ่งคือรุ้งงาม โดยเป็นห้องแสดงนิทรรศการถาวรให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา" รมว.วัฒนธรรมกล่าว

++ รู้จักกับ 3 พี่น้องคนเก่ง นักเรียนทุนดนตรีคลาสสิคพระพี่นางฯ ++

สนับสนุนเนื้อหาข่าวโดย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook