รวมพลคนดนตรีวิเคราะห์ "วงการเพลง" ปีหนู | Sanook Music

รวมพลคนดนตรีวิเคราะห์ "วงการเพลง" ปีหนู

รวมพลคนดนตรีวิเคราะห์ "วงการเพลง" ปีหนู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ถ้าพูดถึงแนวเพลงในเมืองไทยปี 2551 จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพลงป๊อปยังครองตลาดเหมือนเดิมโดย "บอย" ชีวิน โกสิยพงษ์

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนปฏิทินจากปีเก่าไปปีใหม่ใครหลายคนก็มักจะยึดเอาช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ แล้วในเวลาแห่งการเริ่มต้นนี้

บรรดาเหล่านักฟังเพลงตัวยง ต่างก็คอยจับตามองถึงทิศทางของวงการดนตรีในปี 2551 ว่าจะเป็นไปอย่างไร ดังนั้น "หน้าดนตรี คม ชัด ลึก" ไม่รอช้า คว้าตัวผู้คร่ำหวอด และคลุกคลีบนเส้นทางสายดนตรีจากหลากหลายอาชีพ มาวิเคราะห์ให้ฟังกัน

เริ่มที่ "บอย" ชีวิน โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลงและผู้บริหารค่ายเลิฟ อีส แสดงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ถ้าพูดถึงแนวเพลงในเมืองไทยปี 2551 จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพลงป๊อปยังครองตลาดเหมือนเดิม แต่อาจจะเจาะรายละเอียดของเพลงเพิ่มขึ้น เช่น นอกจากความเป็นป๊อป ก็จะเพิ่มความเป็นโซลเข้ามา กลายเป็นป๊อปโซล เป็นต้น

"พฤติกรรมการบริโภคเพลงของคนในยุคนี้ ผมมองว่า นับวันยิ่งมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น คนชอบอยู่กับตัวเอง อยู่กับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นทุกวัน ฉะนั้นผมจึงคิดว่าเพลงกระแสหลักจากค่ายใหญ่น่าจะได้รับความนิยมลดน้อยลง เนื่องจากประชาชนไม่มารอนั่งฟังเพลงจากพวกเขาเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ช่องทางในการนำเสนอเพลงผ่านสื่อดิจิทัล ถือว่ามีอิทธิพลและเป็นเส้นทางในการจัดจำหน่ายเพลงที่มาแรงในช่วงปีนี้อย่างแน่นอน"

ด้าน นพปฎล เจสัน จิรสันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพลตตินั่ม มาร์เก็ตติ้งแอนด์ดิสทริบิวชั่น จำกัด บริษัทจัดจำหน่ายเพลงรายใหญ่ มองกระบวนการทำงานของค่ายเพลงโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่หรือค่ายเล็กในปีนี้ว่า แต่ละฝ่ายต้องควบคุมต้นทุนการผลิตอย่างดี โดยจำกัดศิลปินในการออกอัลบั้มมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเมื่อก่อนค่ายใหญ่ๆ ปีหนึ่งจะปล่อยนักร้องออกอัลบั้มมาเป็นจำนวนมาก ต่อไปนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว คงต้องปั้นนักร้องน้อยลง

"ถ้าเป็นค่ายเล็กๆ จะทำอะไรก็ต้องมีการวางแผนการตลาดอย่างดี และต่อไปนี้คงไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการขายยอดเทปเป็นหลักแล้ว ต้องหันมาให้ศิลปินออกทัวร์คอนเสิร์ตมากขึ้น เน้นกิจกรรมกับกลุ่มแฟนเพลงหันมาให้ศิลปินออกทัวร์คอนเสิร์ตมากขึ้น เน้นกิจกรรมกับกลุ่มแฟนเพลง อย่างเช่น การใช้พื้นที่ของสื่อออนไลน์ให้นักร้องสามารถพูดคุยติดต่อกับแฟนเพลงอย่างใกล้ชิดแทน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ด้านเพลงลูกทุ่งกับเพื่อชีวิตยังไม่ต้องตั้งรับกับสถานการณ์นี้มากนัก เพราะแผ่นเพลงของพวกเขายังขายได้อยู่

ส่วนเรื่องการพัฒนาของแนวเพลงนั้นผมคิดว่าปีนี้วงการดนตรีจะมีแนวเพลงใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะในศิลปินกลุ่มอินดี้ เนื่องจากมีวงดนตรีเกิดขึ้นใหม่ค่อนข้างมาก เลยเป็นผลทำให้เพลงมีหลากหลายแนวมากขึ้น และยังเจาะกลุ่มคนฟังชัดเจนขึ้นอีกด้วย"

ด้านอดีตนักร้องวงร็อกชื่อดัง "หนุ่ย" อำพล ลำพูน แห่งวงไมโครนั้น ก็มีความคิดเห็นสอดคล้องกับ นพปฎล ทั้งนี้เขายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า วงการเพลง ณ ตอนนี้ เป็นยุคของเทคโนโลยี รูปแบบการจัดจำหน่ายเพลง จะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่เป็นการขายในแบบอัลบั้มเพียงอย่างเดียวแล้ว การแข่งขันระหว่างค่ายใหญ่และค่ายเล็ก ก็จำต้องหายุทธวิธีการครองตลาดกันมากขึ้น

"ต่อไปนี้อนาคตธุรกิจเพลงไทยคงมีแต่จะซบเซาลง พวกแผ่นซีดีอาจไม่มีวางจำหน่ายอีกต่อไปแล้ว เพราะมันต้องแปรสภาพเพลงไปจำหน่ายในช่องทางอื่น อย่างเช่น การดาวน์โหลด เนื่องจากวงการเพลงปีนี้จะมีการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อยๆ"

จากนั้น ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงทัศนคติเกี่ยวกับแนวทางของวงการเพลงไทยในปีหนูว่า จะมีศิลปินรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ เพราะต้นทุนในการผลิตถูกลง และนับวันจะยิ่งทำเพลงได้ง่าย และราคาถูกขึ้น มีแค่คอมพิวเตอร์ตัวเดียวก็สามารถผลิตผลงานของตัวเองได้แล้ว

"สาเหตุที่ทำให้ต่อไปนี้วงการเพลงจะมีนักดนตรีเกิดขึ้นเยอะเพราะมีช่องทางในการนำเสนอผลงานของตัวเองได้ง่าย ไม่ต้องไปพึ่งพาค่ายอีกต่อไป ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถือเป็นสิ่งที่ดี จะได้ทำให้แนวเพลงในบ้านเรามีความหลากหลายมากขึ้น และถ้าถามถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการเพลงไทย ณ ตอนนี้ คงตอบว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก

ความหวังทั้งหมดของทิศทางความเป็นไปในวงการดนตรีตอนนี้ต้องขึ้นอยู่กับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำเพลง ว่าจะเข้าไปพัฒนานำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้วงการดนตรีมากน้อยแค่ไหน อีกอย่างสิ่งสำคัญที่สุด ที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน คือเรื่องของกฎหมาย การควบคุมเรื่องสัมปทานคลื่นวิทยุของเจ้าของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เพราะการที่ค่ายเพลงเปิดเพลงอัดหูคนฟังให้ฟังแต่เพลงค่ายตัวเอง ถือเป็นการปิดโอกาสการรับรู้ของประชาชนเหมือนกัน"

รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการค่ายเพลง "สมอลล์รูม" มองทิศทางวงการเพลงของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ระหว่างอาร์เอส กับ แกรมมี่ ในปีนี้ว่า น่าจะนิ่ง เพราะทั้งคู่คงไม่กล้าทำอะไรกระโตกกระตากมากนัก ศิลปินที่ออกมาก็ต้องมีภาพลักษณ์ของความเป็นค่ายที่ตัวเองสังกัดชัดเจน อย่างเช่น "เบิร์ด" ธงไชย แมคอินไตย์ "ปาน" ธนพร แวกประยูร ที่มีผลงานออกมาปุ๊บก็ต้องขายได้ปั๊บ

"ค่ายเล็กๆ นั้น ปีนี้จะต้องทำงานหนักขึ้น เตรียมสร้างสรรค์ผลงานให้มีความแปลกใหม่มากกว่าเดิม เพื่อให้กลุ่มคนฟังมีทางเลือกมากขึ้น อย่างสมอลล์รูมอาจจะมีการพลิกบทบาทของศิลปิน จากที่เคยเป็นอีกอย่างหนึ่งมาออกอีกอย่างหนึ่ง ก็อาจเป็นได้" รุ่งโรจน์กล่าว

บทสรุปสุดท้ายทิศทางอนาคตของวงการเพลงไทยจะเดินไปในทางไหน ก็ยังไม่มีใครคาดเดาได้ แต่อย่างไรเสียสิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่คำตอบชี้วัด หรือมีความสลักสำคัญเท่ากับความจริงใจของคนทำงานเพลง ที่ใส่ใจและซื่อสัตย์ต่อคนฟังของตัวเอง

สนับสนุนเนื้อหาข่าวโดย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook