5 ไอเท็มสำคัญต่อการฟังเพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

5 ไอเท็มสำคัญต่อการฟังเพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

5 ไอเท็มสำคัญต่อการฟังเพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

5 ไอเท็มที่ว่าอาจเรียกให้เท่ๆ ว่า เบญจภาคีในการฟังเพลงก็ได้ เพราะการที่จะได้มันมาครอบครองก็ต้องใช้ทุนทรัพย์ มีการปั่นราคา ให้เซียนคอยแนะนำว่าอะไรราคาดี อะไรราคาตก ฯลฯ ถ้าคุณฟังเพลงมานานพอจนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว 5 ไอเท็มนี้เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องมีครับ อาจจะไม่ต้องมีครบทั้งหมด แต่หลักๆแล้ว ก็ต้องมีอย่างน้อย 2-3 อย่างแหละครับ เอาละ มาดูกันว่า 5 ไอเท็มสำคัญต่อการฟังเพลงประกอบด้วยอะไรบ้าง

 

1. เทปคาสเสตต์

istock-852019546

ไอเท็มแรกๆที่ทุกคนต้องเคยผ่านมือมาแล้ว แต่สมัยนี้อาจจะยากขึ้นมานิด เพราะค่ายเพลงเลิกผลิตออกขาย หาได้จากตลาดของมือสองหรือมรดกตกทอดเท่านั้น สมัย 30-40 ปีก่อน ราคาเทปม้วนละ 30-70 บาท ซึ่งก็ถือว่าเหมาะสมดี กระทั่งสิบปีมานี้ ราคาถีบตัวสูงขึ้นมา เพราะเหตุที่เลิกผลิต และหลายๆคนยังถือว่าเป็นไอเท็มที่สัมผัสได้ง่ายที่สุดในบรรดา 5 ไอเท็ม จึงเสาะหากันอย่างเอาเป็นเอาตาย คาดว่าถ้าตลาดเทปบ้านเรายังคงอยู่ เทปก็ยังเป็นตัวขายอันดับต้นๆอยู่ดี ทั้งราคาของมันและเครื่องเล่นที่ราคาไม่สูงมากนัก

ในสมัยที่เทปครองตลาด เราเดินไปไหนก็พบเห็นร้านขายเทปได้ทั่วไป มีชุกระดับน้องๆ 7-11 กันเลยทีเดียว เพราะนอกจากร้านขายเทปโดยเฉพาะแล้ว ร้านขายเครื่องเสียง ร้านขายอุปกรณ์การเรียน กระทั่งร้านโชห่วยบางร้านก็มีเทปวางขาย ด้วยราคาที่จับต้องได้ ขนาดกะทัดรัด และเป็นตลาดเสรีที่ลิขสิทธิ์ยังไม่มีผลบังคับใช้

การฟังเพลงของคนที่อายุปัจจุบันราวๆ 30 ปีขึ้นไปจึงผ่านช่วงเวลาที่ฟังเทปเป็นหลักกันมาแล้วทั้งนั้น ทุกวันนี้เทปยังเป็นที่ต้องการของหลายๆคนก็เพราะมันเป็นความหลังที่หวานชื่น(หรือขมขื่น)ของแต่ละคนนั่นเอง ข้อเสียอย่างเดียวของเทปก็คือ อายุไม่ยืน ประมาณ 20-30 ปีในกรณีที่เก็บรักษาดีๆ แต่เทปที่ผมซื้อไว้เมื่อ 37 ปีก่อนก็ยังฟังได้ เพียงแต่เสียงไม่ดีเท่าเทปใหม่เท่านั้นเอง ไม่แนะนำให้เอามาเปิดเล่นนะครับ เพราะเสี่ยงต่อเส้นเทปขาดและทำให้หัวอ่านเทปสกปรกได้ง่าย

 

ทุกวันนี้เรายังหาซื้อเทปได้อยู่ทั้งสภาพใหม่เอี่ยมและมือสองจากเพจขายของทั้งหลายแหล่ ตลอดจนจากคนรู้จักที่เขาแบ่งปันให้นั่นเอง แต่อย่าตกใจ หากราคามันจะสูงขึ้นจากราคาดั้งเดิมราวๆ 1-3 เท่าครับ เป็นเรื่องปกติของสิ่งที่ไม่ผลิตเพิ่ม แต่มีคนต้องการเพิ่มขึ้นครับ

*เทปเปรียบเสมือนก้าวแรกของการฟังเพลง เริ่มจากลองผิดลองถูก อะไรน่าสนใจก็ซื้อมาฟัง ฟังแล้วชอบไม่ชอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นปฐมบทของทุกคน ประหยัดงบ เมื่อฟังจนถึงจุดหนึ่งก็ก้าวไปฟังซีดีเป็นทางเลือกเพิ่ม

 

2. ซีดี

istock-883270804

เป็นไอเท็มภาคบังคับสำหรับคนยุค80s จนถึงยุคนี้กันเลย เพราะความสะดวกสบายในการฟัง ขนาดพกพาได้ง่ายยิ่งกว่าเทป บางกะทัดรัด เก็บจัดเป็นระเบียบง่าย และมีเครื่องเล่นรองรับได้มากมาย ตั้งแต่ขนาดพกพาไปจนถึงระดับซิสเต็มชุดหรู หาซื้อง่าย ราคาตั้งแต่มาตรฐานตั้งแต่ 250-500 บาท ในช่วงที่ซีดีบูมสุดขีดก่อให้เกิดเปิดท้ายรถขายเทปเก่าและแผ่นเสียงเก่ามาแล้ว เพราะคนฟังส่วนใหญ่คิดว่าซีดีจะกลายเป็นไอเท็มหลักในการฟังเพลง เทปและแผ่นเสียงจะหมดบทบาทไปเลย แต่มาถึงบัดนี้ เทปกับแผ่นเสียงก็ยังมีคนนิยมกันอยู่

 

ข้อเสียเปรียบของซีดีมีไม่มากนัก เริ่มจากราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเทป แต่ราคาของมันก็ได้คุณภาพที่เหนือกว่าเทป ข้อเสียเปรียบอีกอย่างก็คือ มันก๊อปปีได้ นำไปไรต์ลงแผ่นเปล่ากลายเป็นแผ่นก๊อปแจกจ่ายหรือขายกันอย่างแพร่หลายอย่างที่เคยเกิดมาแล้วช่วงหนึ่ง สร้างความเสียหายในกับค่ายเพลงอย่างมหาศาล ส่วนอายุขัยของซีดีบางแผ่นก็ยืนยาวกว่าเทป บางแผ่นก็อายุแสนสั้น ไม่ถึง 10 ปีก็หมดสภาพ ไม่ต้องพูดถึงแผ่นก๊อปที่ไรต์มาอีกทอดหนึ่ง อายุจะสั้นกว่าซีดีลิขสิทธิ์แทบทั้งนั้น

*ไอเท็ม 1-2 จึงเป็นไอเท็มคู่ใจคู่กายคนฟังเพลงมาเป็นเวลาช้านาน คนที่เริ่มจากฟังเทป จนก้าวมาฟังซีดีเองโดยธรรมชาติ เพราะต้องการฟังสุ้มเสียงที่ดีขึ้น มีรายละเอียดของอัลบัมที่ซื้อ และความสะดวกสบายในการหาซื้อ เก็บสะสมครับ

 

3. แผ่นเสียง

istock-628909554

ย้อนกลับไปสมัยก่อน ราว 30 ปีขึ้นไป แผ่นเสียงเป็นทางเลือกแรกๆของการฟังเพลง เพราะมีให้หาซื้อได้ไม่ลำบากนัก ไปเดินห้างสรรพสินค้าก็มีขาย ไปย่านขายเครื่องเสียงก็มีร้านเครื่องเสียงวางขายแผ่นเสียงควบคู่ไปด้วย หรือแม้แต่ร้านหรูๆในย่านค้าขายบางย่าน เช่น เยาวราช สีลม สุขุมวิท ราชประสงค์ ประตูน้ำก็มีร้านขายแผ่นเสียงให้หาซื้อกันอย่างมากมาย แต่ด้วยยุคสมัยนั้น ตลาดเพลงมีเพียงเทปกับแผ่นเสียง อีกทั้งราคาเทปก็ถูกกว่าหลายเท่าตัว แผ่นเสียงจึงถูกมองว่าเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย เป็นของเล่นของคนมีฐานะ เพราะแผ่นเสียงแผ่นหนึ่งราคาตั้งแต่ 120 ถึง 400 บาทแล้ว หนำซ้ำเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องหนึ่งก็หลายพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท

 

ข้อดีของแผ่นเสียงโดดเด่นจนบดบังข้อด้อยไปเลย หลักๆก็คือ ใช้เป็นมาสเตอร์ในการอัดลงเทปได้ อีกทั้งตัวแผ่นเสียงก็อายุยืนมาก หากเก็บรักษาให้ดี เราจากโลกนี้ไปแล้ว มันก็ยังอยู่ ให้สุ้มเสียงดีเหมือนวันที่ซื้อมาด้วยซ้ำไป ในยุคของแผ่นเสียงกับเทป คนฟังเพลงที่เน้นเทป ก็อาศัยจ้างร้านแผ่นเสียงอัดเพลงที่ชอบลงเทปไว้ฟังเองครับ จะอัดยกอัลบัมหรือคัดเป็นเพลงมารวมเองก็ได้ นี่ยังไม่รวมอาร์ตเวิร์กปก ซองในที่พิมพ์เนื้อเพลง ซึ่งเทปผียุคนั้นไม่มีให้

ข้อด้อยมีไม่มาก แต่ก็เป็นอุปสรรคให้นักฟังเพลงอยู่สมควร เริ่มจากการเก็บรักษาลำบาก ด้วยขนาดใหญ่ ปกและซองเป็นกระดาษที่ไม่ถูกกับความชื้นและปลวกอย่างมาก ต้องใส่ซองพลาสติกกันความชื้น ตัวแผ่นเสียงเป็นพลาสติกไวนิล โดนความร้อนไม่ได้ สารเคมีบางชนิดไม่ได้ ตลอดจนความชื้นที่ก่อให้เกิดราที่ผิวแผ่น แต่ถ้าเก็บรักษาให้ดี มันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตครับ ในยุคเทปผี จึงเอาแผ่นเสียงไปทำมาสเตอร์เทป แล้วให้ผลิตเทปผีออกจำหน่าย ปกเทปก็ถ่ายจากปกแผ่นเสียงทั้งดุ้น จัดอาร์ตเวิร์กนิดหน่อยให้เข้ากับปกแนวตั้งของเทป

 

*แผ่นเสียงเริ่มเป็นที่นิยมของคนฟังเพลงรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะวงยุคนี้หลายวงผลิตแผ่นเสียงออกขายควบคู่ไปกับซีดี แต่น่าเสียดายที่คนฟังยุคนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสุ้มเสียงของแผ่นเสียงควรเป็นอย่างไร เพราะเขาฟังซีดีมาตลอด ใช้เกณฑ์การตัดสินใจจากเสียงของซีดี อีกทั้งให้ฮาร์ดแวร์ที่ไม่ได้ผลิตมาเพื่อฟังแผ่นเสียงจริงๆ เป็นระบบดิจิตอล ไม่ใช่อนาล็อก แผ่นเสียงจึงเป็นไอเท็มอันดับรองลงมาสำหรับคนฟังเพลงรุ่นใหม่และหน้าใหม่ครับ ส่วนคนที่ฟังแผ่นเสียงมาตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน ก็ยังฟังต่อไป เพราะพวกเขารู้ถึงจุดเด่นและสุ้มเสียงอันดีเยี่ยมของมันอยู่แล้วนั่นเอง ปัจจุบัน ราคาแผ่นเสียงถูกปั่นโดยพ่อค้าและมีคนฟังที่ไม่ประสีประสาไปซื้อกันในราคาแพงเกินเหตุ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่แผ่นเสียงในบ้านเราจึงไม่ก้าวหน้าอย่างเมืองนอกเขา

 

4. ดีวีดี

istock-627719296

อาจเป็นไอเท็มอันดับ 1 หรือ 2 สำหรับหลายๆคน เพราะเมื่อฟังเพลงแล้วก็อยากดูคอนเสิร์ตของศิลปินคนโปรดด้วย เรื่องคอนเสิร์ตหรือไลฟ์ของศิลปินเป็นธรรมเนียมที่เจ้าของผลงานทำออกขายตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เริ่มจากยุคแผ่นเสียงอัลบัมไลฟ์ ฟังเพลงเดียวกันกับอัลบัม แต่มีบรรยากาศแสดงสดเพิ่มเข้ามา บางรายเล่นเพลงแตกต่างไปจากเวอร์ชันอัลบัมด้วย เป็นงานที่แฟนเพลงชอบสะสม แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธงานไลฟ์ เพราะไม่ชอบเสียงคนเฮและบรรยากาศคนดูอื้ออึงนั่นเอง เมื่อเข้าสู่ยุคที่พัฒนาด้านวิชวล วิดีโอเทปหรือ VHS ก็ออกมา ตามด้วยเลเซอร์ดิสก์หรือ LD ก่อนจะมาสุดที่ดีวีดีและบลูเรย์ในที่สุด

การพัฒนาไปตามไทมไลน์นี้สื่อให้เห็นว่าซอฟต์แวร์พัฒนาไปตลอดเวลา จากให้เห็นภาพเคลื่อนไหวที่สุ้มเสียงยังไม่ดีนัก จนพัฒนาระบบเสียงด้วย LD กับภาพที่คมชัดขึ้น จนถึงบลูเรย์ที่ยอดเยี่ยมทั้งภาพและเสียง งานไลฟ์จึงเป็นอีกไอเท็มหนึ่งที่ขาดไม่ได้ แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยซิสเต็มที่ทันสมัย ราคาค่อนข้างสูงให้สมกับความบันเทิงที่ได้จากการดูไลฟ์ผ่านซอฟต์แวร์

*ดีวีดี อาจไม่ใช่ไอเท็มที่จำเป็นเท่ากับ 3 อย่างแรก แต่สำหรับหลายๆคนก็ขาดไม่ได้ ที่ฟังเพลงโปรดแล้วไม่ได้ดูคอนเสิร์ตของศิลปินเจ้าของเพลงมันเหมือนชีวิตขาดสีสันไป อีกส่วนที่คนชอบดีวีดีเพราะใช้ซิสเต็มเดียวกับที่ใช้ดูภาพยนตร์นั่นเอง

 

5. คอนเสิร์ต

istock-840110546

เป็นไอเท็มสุดท้ายที่ต้องใช้เงินค่อนข้างมากและอาจไม่สำคัญเท่า 4 ไอเท็มที่กล่าวถึงข้างต้น แต่มันก็ช่วยเติมเต็มความสุขในการฟังเพลงได้อย่างไร้ข้อกังขา หลายคนถึงกับกล่าวว่า “ได้ดูศิลปินคนโปรดเล่นสดตรงหน้าก็ตายตาหลับแล้ว” จริงครับ แต่หลายศิลปินโปรดของหลายคนก็ไม่มีโอกาสมาเล่นคอนเสิร์ตในบ้านเราสักที ที่มาก็อาจจะไม่โปรดมาก แต่เราก็ยังไปดูกัน เพราะเหตุผลข้างต้น “เราอยากดูพวกเขาเล่นไลฟ์” และไอเท็มนี้ก็เป็นตัวดูดเงินที่น่ากลัวเอาการ ในช่วงสิบปีมานี้มีคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศมาเล่นบ้านเราถี่ขึ้น ส่วนราคาบัตรคอนเสิร์ตก็สูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากค่าจ้าง ค่าลงทุน และอีกร้อยแปด คนที่เคยดูคอนเสิร์ตในราคา 400-500 บาทเมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบันต้องควัก 2,000-5,000 บาทกับคอนเสิร์ตหนึ่งที่จะได้ดูไลฟ์ราวๆ 60-120 นาที แต่ส่วนใหญ่จะราวๆ 60 นาทีกว่าเสียมากกว่า เรื่องราคาบัตรนี้จะช่วยให้คนดูตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ถ้าสูงเกินไป ก็ตัดใจไม่ดูได้ แต่ถ้าราคากลางๆก็คงไม่มีใครอยากพลาด

 

ข้อดีอย่างเดียวของคอนเสิร์ตก็คือ ได้เก็บช่วงเวลาที่ดูไว้เป็นเมโมรีในใจตลอดไป ได้สัมผัสบรรยากาศที่คนฟังเพลงจากซีดีไม่มีทางรับรู้ได้ และมีบัตรคอนเสิร์ตเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกใบคอนเสิร์ตยังเป็นทางเลือกของคนฟังเพลงต่อไป ตราบใดที่ศิลปินคนโปรดเล่นดนตรีสดได้ดีหรือมีรสชาติกว่าฟังจากซีดี

 

*เดี๋ยวนี้มีโปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตกันมากขึ้น แต่ข้อจำกัดของทุกรายก็คือ ไม่สามารถดึงศิลปินระดับบิ๊กเนมมาเล่นได้ เพราะลงทุนสูงมาก มีโอกาสขาดทุน ไหนจะมีขาใหญ่ไถบัตรฟรีอีก แต่หลายคนหาทางออกโดยเลือกไปดูคอนเสิร์ตยังประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งก็ตอบสนองความต้องการได้ในระดับหนึ่ง แต่มีข้อแม้ว่า คุณต้องมีทุนพอที่จะถ่อไปดูต่างประเทศด้วย

 

ในบรรดาไอเท็มทั้ง 5 ใครชอบแบบไหน แบบนั้นก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ บางคนเน้นดูคอนเสิร์ต ฟังซีดีเป็นเรื่องรอง บางคนฟังแผ่นเสียงกับเทป ซีดีฟังน้อยมาก บางคนเน้นดูดีวีดีเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับรสนิยมและกำลังทรัพย์ครับ แต่หากจะพูดถึงเทรนด์ในการฟังเพลงในสมัยนี้จริงๆ คงหนีไม่พ้นบริการสตรีมมิ่ง หรือการซื้อเพลงผ่านตลาดดิจิตอล ที่ทำให้เราฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนกันจนเป็นเรื่องปกติ โอกาสหน้าเราจะมาพูดถึงเทรนด์การฟังเพลงของคนสมัยนี้กันครับ ว่ามีข้อดี ข้อเสีย หรือความแตกต่างจากการฟังเพลงผ่าน physical CDs อย่างไรบ้าง

 

 

Photos : iStockPhoto 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook