Clean Bandit กับการสร้างสรรค์ดนตรีคลาสสิกผสมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีใครเหมือน | Sanook Music

Clean Bandit กับการสร้างสรรค์ดนตรีคลาสสิกผสมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีใครเหมือน

Clean Bandit กับการสร้างสรรค์ดนตรีคลาสสิกผสมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีใครเหมือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำเอาดนตรีที่ดูไฮคลาส และเข้าถึงยากอย่างดนตรีคลาสสิก มารวมอยู่กับเพลงอิเล็กทรอนิกส์ชวนแดนซ์สนุกๆ แต่ Clean Bandit วงทริโอชายสองหญิงหนึ่งจากอังกฤษสามารถทำออกมาได้อย่างกลมกล่อมน่าฟัง และยังฮอตฮิตติดชาร์ตเพลงไปทั่วโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว แถมยังมีโอกาสได้เชิญนักร้องชื่อดังมากมายมาร่วมงานกับพวกเขาอีกด้วย ทำให้ผลงานเพลงในแต่ละเพลงมีเสียงร้องต่างกัน เลยทำให้ทุกเพลงของ Clean Bandit มีความน่าตื่นเต้นไปเสียทุกครั้งว่าจะได้เสียงของใครมาร้องให้ และจะออกมาในรูปแบบไหน นี่คือเสน่ห์ของ Clean Bandit ในมุมมองของเรา

แต่เสน่ห์ของ Clean Bandit ในมุมมองของพวกเขาจะเป็นอย่างไร เราได้บทสัมภาษณ์จาก Jack Patterson หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของวง ผู้รับหน้าที่เล่นเบส คีย์บอร์ด เปียโน และไวโอลิน ที่จะมาพูดคุยถึงตัวตนของ Clean Bandit และงานเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขากันอย่างเจาะลึกมาฝากกัน

 

__________________

อัปเดตชีวิตตอนนี้หน่อย เป็นอย่างไรบ้าง? ทำอะไรอยู่?

ช่วงปี 2018 นี้ชีวิตของพวกเรายอดเยี่ยมมากๆ ครับ ได้มิกซ์เพลงใหม่ๆ และขึ้นแสดงสดมากมาย ตอนนี้ผมกำลังสนุกกับแสงแดด (ซัมเมอร์) ในอังกฤษเลยล่ะ

 

ชื่อวง Clean Bandit เป็นภาษารัสเซียที่มีความหมายเดียวกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “utter rascal” หรือ “คนพาล”  ซึ่งมีนัยยะออกมาให้เชิงลบเล็กน้อย แต่ถึงอย่างนั้น เพลงของพวกคุณก็บ่งบอกถึง การมองโลกในแง่ดี และเสริมสร้างพลังทางบวก เลยอยากรู้ว่าพวกคุณสามารถหาไอเดียใหม่ๆ และถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลงของคุณได้จากที่ไหนบ้าง?

ผมคิดว่าเราได้แรงบันดาลใจต่างๆ มาจากผู้คนอันหลากหลายที่เราได้ร่วมงานด้วย เรามีทีมงานขนาดใหญ่ที่ออกเดินทางร่วมกับเรา เวลาที่เรามีตารางขึ้นแสดงสดกับนักร้อง และนักดนตรีอันน่าทึ่งที่เราทำงานด้วย ทุกคนต่างก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมทั้งนั้น เช่นเดียวกับการที่ได้ร่วมงานกับศิลปินที่โดดเด่น และมีความแตกต่างกันคนละแบบ พวกเขานำรสชาติใหม่ๆเข้ามาในเพลง และเราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่พวกเขานำเข้ามานี่แหละ ซึ่งผมคิดว่าได้รับมาเยอะเลยทีเดียวครับ

 

ขอ 3 คำที่สามารถอธิบายความเป็น Clean Bandit ได้อย่างชัดเจน

Joke ความตลก, Joy ความสนุก และ Pain ความเจ็บปวดครับ

 

นอกเหนือจากสองนักประพันธ์ดนตรีชั้นครูอย่าง Mozart และ Shostakovich แล้ว มีนักประพันธ์เพลง ศิลปิน หรือนักดนตรีรุ่นใหม่คนไหนที่สร้างความประทับใจให้กับคุณ หรือแม้แต่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณอีกบ้าง?

มีครับ เธอเป็นนักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ชาวอังกฤษชื่อว่า Kate Whitley เราได้ชื่นชมผลงานของเธอในคอนเสิร์ตที่แสดงโดยวงออเคสตร้าทางตอนใต้ของกรุงลอนดอนเมื่อช่วงต้นปีนี้ และปลายปีก่อน ซึ่งเราก็อยากที่จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับเธอบ้างครับ

 

สำหรับ Clean Bandit การผสมผสานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เข้ากับดนตรีคลาสสิก มันออกมาเป็นอย่างไร?

ดนตรีที่ออกมาไม่มีชื่อประเภทที่พวกเราเรียกแน่ชัดหรอกนะครับ แต่ดนตรีของเรามีความผสมผสานของหลายแนว เราไม่มีเจตนาที่สร้างดนตรีแนวใหม่ขึ้นมา แค่หยิบยืมหลายแนวมาเป็นแนวเพลงของเราเท่านั้น

 

นอกจากศิลปินแนวคลาสสิกที่ว่าแล้ว อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงของคุณอีก?

แรงบันดาลใจหลักของพวกเราคือ ศิลปินที่เราร่วมงานด้วยครับ

 

พวกคุณได้ร่วมงานกับศิลปินหน้าใหม่ของวงการมากมายเลย ตั้งแต่ Zara Larsson, Anne-Marie และ Julia Michaels ไปจนถึงระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง Demi Lovato หลักเกณฑ์ในการเลือกนักร้องแต่ละคนมาร่วมงานในแต่ละแทร็กของคุณคืออะไรเหรอครับ? เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์การร่วมงานกับพวกเขาหน่อย?

ในบางครั้ง มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วยครับ เรามองหาเสียงร้องที่ทรงพลัง แต่บางครั้งเราก็มองหาอะไรที่แบบ ถ้าเรามีแทร็กที่ Julia Michaels ได้แต่งไว้ให้แล้ว คือเราเป็นแฟนตัวยงของเธอทั้งในฐานะนักร้อง และนักแต่งเพลงเลย เราได้ร่วมกันแต่งเพลงๆนั้นด้วยกัน (I Miss You) มันมีกลิ่นอายที่แตกต่างไปจากเพลงบางเพลงที่เราเคยทำก่อนหน้านั้น หรืออย่างเพลง Solo เราเลือก Demi Lovato เพราะเธอมีพลังเสียงที่ถ่ายทอดบทเพลงให้ถึงคนฟังได้คือเราแค่มองหาใครซักคนที่มีความสามารถอันน่าทึ่ง เพื่อนำเสนอเพลงในรูปแบบที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพได้น่ะครับ

 

 

 

มีศิลปินคนไหนอีกบ้าง ที่พวกคุณอยากร่วมงานด้วยในอนาคต?

ศิลปินที่เราอยากร่วมงานด้วยก็มี Beyonce, Drake, Sam Feldt, Lana Del Rey และ Frank Ocean ครับ

 

แล้วถ้าให้คุณเป็นศิลปินคนไหนก็ได้สักคน คุณจะเลือกเป็นใคร? และเพราะอะไร?

อืม... ผมอาจจะขอเลือกเป็น David Bowie ครับ เพราะเขาเป็นศิลปินที่มีความสามารถมาก และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินคนอื่นอีกหลายๆ คนด้วย

 

เพลงไหนที่แต่งยากมากที่สุด เพราะอะไร?

คิดว่าน่าจะเป็นเพลง Symphony” เพราะเราเริ่มทำเพลงนี้หลังจากเพลง Rockabye” ซึ่งจังหวะและความเร็วแตกต่างกันมาก เพลง “Symphony” มีจังหวะคล้ายกับ Rather Be” ซึ่งเป็นซิงเกิลแรกที่เป็นจังหวะค่อนข้างเร็ว การกลับมาทำเพลงด้วยจังหวะนี้จึงเป็นเรื่องนี้ท้าทายพวกเราพอสมควรครับ

 

 

 

 

Solo” เป็นเพลงที่พูดถึงผู้หญิงที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นอิสระ แต่ในทางกลับกัน ผู้ฟังบางคนได้ตีความเนื้อหาของเพลงนี้ว่ามันเกี่ยวกับการสร้างความพึงพอใจทางเพศด้วยตัวเองอีกด้วย คุณมีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง?

ใช่ครับ ส่วนนี้ก็ไม่ต่างกัน มันเป็นไอเดียประมาณว่า แค่คุณสามารถดูแลตัวเองได้ และคุณไม่ต้องการอยู่ในความสัมพันธ์ใดๆ เพราะคุณสามารถจัดการกับความต้องการทางเพศ หรืออะทำนองนั้นได้ด้วยตัวของคุณเองน่ะครับ

 

 

 

มีแววว่าจะได้ฟังอัลบั้มที่ 2 ของ Clean Bandit บ้างไหม?

เร็วๆ นี้ครับ เราเหลือเวลาประมาณสัปดาห์เดียวแล้วที่จะบันทึกเสียงให้เสร็จ ใช่แล้วครับ เรากำลังอยู่ในสตูดิโอ ลุยงานรัวๆ เลย

 

Clean Bandit ถือเป็นหนึ่งศิลปินผู้บุกเบิกเส้นทางให้กับวงการเพลงอิเลกทรอนิกส์สมัยใหม่เลยก็ว่าได้ และมีการออกทัวร์ทั่วโลกเป็นบางครั้งสำหรับช่วงนี้ อยากทราบว่าคุณมีวิธีจัดการกับสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตของคุณอย่างไรบ้าง?

เรามีกฎใหม่คือ เราจะไม่แตะต้องแล็ปท็อปขณะที่ทัวร์อยู่เด็ดขาด ซึ่งผมจะพยายามแบ่งเวลาสำหรับตอนทัวร์กับเวลาทำงานในสตูดิโออย่างชัดเจน แต่สำหรับตอนนี้ ก่อนออกทัวร์ทุกครั้งผมต้องเอาแล็ปท็อปไปเก็บไว้ในบ้านก่อน และพกไปแค่หนังสือเท่านั้น การได้ออกทัวร์มันมีทั้งความสนุก ความผ่อนคลาย และมีพื้นที่ให้ทำอะไรอีกหลายอย่างอีกด้วย ผมคิดว่าตอนนี้พวกเราทำงานกันได้อย่างคล่องแคล่วแล้วล่ะครับ

 

หลังจากทัวร์มาหลายที่แล้ว โชว์ที่ไหนที่ทำให้พวกคุณประทับใจมากที่สุด?

คงต้องเป็นที่เทศกาลดนตรีที่อังกฤษอย่าง Glastonbury Festival แล้วก็มีโชว์เล็กๆ ที่สร้างความประทับใจให้กับพวกเราเช่นกัน นั่นคือที่เมืองเบรุต ประเทศเลบานอนครับ

 

ดนตรีของพวกคุณเปรียบเสมือนอาหารหลากหลายจานผสมกัน ถ้าให้คุณเลือกอาหารไทยหนึ่งอย่างมานำเสนอดนตรีของวงคุณ คุณจะเลือกเมนูอะไร และเพราะอะไร?

โอ้... (คิดนาน) คงจะเป็น จานที่มีมะเขือเทศกับถั่ว แบบสลัดมะเขือเทศเขียวๆ แล้วก็มีถั่วโรยอยู่น่ะ (ส้มตำ) ผมเคยชิมจานนี้ตอนที่ได้ไปเยี่ยมเพื่อนของผมที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอด มันเป็นสลัดของไทยที่อร่อยมากๆ แต่มันเต็มไปด้วยรสชาติที่หนักและเบาในเวลาเดียวกัน ผมคิดว่าจานนี้น่าจะเป็นเมนูที่นำเสนอดนตรีของพวกเราได้เป็นอย่างดีครับ

 

เมื่อมาที่ประเทศไทยแล้ว อยากทำอะไรบ้าง และอยากฝากอะไรถึงแฟนเพลงชาวไทยบ้าง?

ผมมีแพลนที่จะไปเยี่ยมเพื่อนของผมที่อยู่ที่ไทยครับ พวกเรามีความสุขมากๆ ที่จะได้ไปเจอกับพวกคุณทุกคนที่ประเทศไทย พวกเราแทบจะรอไม่ไหวกันเลยทีเดียว เพราะพวกเราขอเป็นแฟนตัวยงของประเทศไทยเลยหลังจากที่ได้ไปเที่ยวที่นั่นเมื่อปีก่อน พวกเรามีช่วงเวลาอันยอดเยี่ยมสุดๆ ที่นั่น และพวกเรากำลังจะมีค่ำคืนอันแสนพิเศษร่วมกับพวกคุณทุกคนแล้ว มาเจอกันนะครับ รับรองว่าได้สนุกกันอย่างแน่นอน และขอขอบคุณทุกการสนับสนุนจากพวกคุณเป็นอย่างดีเสมอมาครับ

 

เห็นความตื่นเต้นดีใจ และความรักในเมืองไทยของ Clean Bandit กันขนาดนี้แล้ว อย่าลืมไปเจอพวกเขา และฟังดนตรีสดๆ อันมีเสน่ห์ไม่เหมือนใครของพวกเขากันได้ใน BEC-TERO RADIO presents Clean Bandit Live in Bangkok วันพุธที่ 22 สิงหาคมนี้ ที่ เซ็นเตอร์พ้อยท์ สตูดิโอ ซอย ลาซาล

 

_________________

Special Thanks : Eazy FM และ RAD Radio

Photo : Rita Zimmermann

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook