ความนุ่มละไมในห้องนั่งเล่นแห่งเสียงเพลงของ “HYHBKK Live! with Devendra Banhart Solo” | Sanook Music

ความนุ่มละไมในห้องนั่งเล่นแห่งเสียงเพลงของ “HYHBKK Live! with Devendra Banhart Solo”

ความนุ่มละไมในห้องนั่งเล่นแห่งเสียงเพลงของ “HYHBKK Live! with Devendra Banhart Solo”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้ฝนโปรยปรายลงมาแทบทุกวัน การได้นั่งฟังดนตรีโฟล์คหรืออะคูสติกป็อปดีๆ สักอัลบั้มท่ามกลางเสียงเม็ดฝนคงจะเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจชุ่มชื้นขึ้นเป็นกอง หลายคนอาจจะนึกถึงศิลปินชื่อดังอย่าง Jason Mraz หรืออาจจะลึกลงไปอีกสักหน่อยกับ José González ทว่าศิลปินที่ Sanook! Music อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักอีกคนก็คือ Devendra Banhart ที่เพิ่งจะขึ้นโชว์ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (16 มิถุนายน 2561) กับ HYHBKK Live! with Devendra Banhart Solo

Devendra Banhart อาจไม่ใช่ศิลปินที่นักฟังเพลงชาวไทยรู้จักในวงกว้างมากนัก เขาคือศิลปินเชื้อสายเวเนซูเอล่าที่พำนักพักพิงอยู่ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา กับผลงานดนตรีโฟล์คและอะคูสติกป็อปแบบฉบับเฉพาะตัว ทั้งลุ่มลึก นุ่มละไม ต่อยอดไปสู่จิตวิญญาณที่ส่งต่อมายังคนฟัง โดยมีการนำความสามารถของเขาไปเทียบกับศิลปินอย่าง Daniel Johnston รวมไปถึง Nick Drake ซึ่งตลอดระยะเวลา 16 ปีในวงการเพลง เขาปล่อยอัลบั้มเต็มออกมาถึง 9 ชุด และได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งนักวิจารณ์และคอดนตรีตัวจริงเสมอมา

โปสเตอร์คอนเสิร์ต

โปสเตอร์คอนเสิร์ต "HYHBKK Live! with Devendra Banhart Solo"

 

และนี่ก็นับเป็นอีกครั้งที่คอนเสิร์ตโดยผู้จัดอย่าง HAVE YOU HEARD? ขายบัตรหมดเกลี้ยงในทันทีที่เปิดจำหน่าย แม้จะมีเพียง 350 ใบ แต่อย่างไรก็การันตีความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์ของชายวัย 37 ปีผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

ออกเดินทางสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร กับสถานที่จัดแสดงอันแปลกใหม่อย่างห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 อาคารสยามกลการ ซึ่งจัดเป็นที่นั่งทั้งหมด มอบบรรยากาศในการชมคอนเสิร์ตที่แปรเปลี่ยนไป แต่ช่างเหมาะสมเหลือเกินกับการได้ละเมียดละไมเสพเพลงของชายที่ชื่อ Devendra Banhart

จีน มหาสมุทร ในนาม Little Fox

จีน มหาสมุทร ในนาม Little Fox

 

อุ่นเครื่องด้วยโชว์เปิดของ จีน-มหาสมุทร บุณยรักษ์ กันก่อน หลายคนอาจคุ้นเคยกับบทบาทการเป็นนักร้องนำและมือกีตาร์วงดนตรีอินดี้อย่าง Saliva Bastards แต่คราวนี้เขามาในนามโปรเจกต์ Little Fox ซึ่งเป็นผลงานเดี่ยวของเขา แม้จะต้องปรับหูสักเล็กน้อยกับน้ำเสียงเฉพาะตัวที่ฟังยากอยู่สักหน่อย ซาวด์กีตาร์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ฟังง่ายเสียทีเดียว (ชอบมากในช็อตที่เขาใช้คันโยกในช่วงท้ายเพลงบางเพลงที่ทำให้บรรยากาศของเพลงดู “มีอะไร” มากยิ่งขึ้น) รวมถึงเพลงภาษาอังกฤษที่เขาหยิบมาเล่นก็ไม่ใช่อะไรที่คุ้นเคยสักเท่าไหร่ แต่ Little Fox ก็แทรกเพลงไทยเข้ามาอยู่เป็นระยะ อาทิ “ทุกคืนวัน” ที่พอจะคุ้นหูอยู่พอสมควร รวมไปถึงเพลง “แด่เด็กน้อย” ที่สะท้อนความเป็นจริงเด็กยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี

ห้องนั่งเล่นของ Devendra Banhart

ห้องนั่งเล่นของ Devendra Banhart

 

จบโชว์ของ Little Fox ก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย ม่านสีแดงที่เปรียบเสมือนฉากละครเวทีสักเรื่องก็ถูกเปิดออก ฉากบนเวทีที่เห็นอยู่เบื้องหน้าช่างแสนเรียบง่าย แต่เสน่ห์กลับล้นเหลือจนทำให้เราเผลอยิ้ม เก้าอี้, กีตาร์, ตู้แอมป์, สายแจ๊คเรียงรายอยู่บนพื้น เคียงข้างด้วยโคมไฟตั้งตระหง่าน เผยโฉม Devendra Banhart ที่มาพร้อมโปรดิวเซอร์คู่บุญ Noah Georgeson ที่เคยชนะรางวัลแกรมมี่เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาในฐานะคนมิกซ์เสียงอัลบั้ม Ilevitable ของศิลปินสาว ILE ในสาขา Best Latin Rock, Urban or Alternative Album และเสียงปรบมือก็ดังกึกก้องห้องเหลี่ยมห้องนั้น

เซอร์ไพรส์เล็กน้อยเมื่อ Devandra เปิดโชว์ด้วยเพลงภาษาสแปนิชอย่าง “Brindo” ก่อนจะสลับสับเปลี่ยนระหว่างเพลงสเปนและอังกฤษไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น “Middle Names”, “Good Time Charlie”, “Theme for a Taiwanese Woman In Lime Green”, Quédate Luna” และ Baby ซึ่งแต่ละเพลงก็มีเอกลักษณ์ชวนเคลิบเคลิ้มที่ต่างกัน ทั้งจากน้ำเสียงที่ Devendra ดีไซน์ออกมาให้ลูกเล่นต่างๆ นานา หรือจะเป็นลีลาการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าของทั้งคู่ที่แพรวพราว เต็มไปด้วยเทคนิค แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่จับต้องได้ยาก ยอมรับว่าฟังเพลินมากจริงๆ

Devendra Banhart กับกีตาร์คู่ใจ

Devendra Banhart กับกีตาร์คู่ใจ

 

นอกจากฝีมือในการเล่นดนตรีและร้องเพลงของ Devendra Banhart จะน่าหลงใหลแล้ว อาจจะพูดได้ว่า เขาเป็น “ผู้ชายสายฮา” คนหนึ่งก็ว่าได้ เพราะตลอดโชว์เขามีปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงชาวไทยแทบทุกครั้งเมื่อเล่นจบ 1 เพลง นอกจากจะพูดคุยกับผู้ชมแล้ว ยังตอบโต้ไปมากับ Noah Georgeson ที่อาจจะเคร่งขรึมกว่า Devendra อยู่พอตัว แต่กลับเป็นบทสนทนาที่ไหลลื่น น่าฟัง ยิ่งเมื่อ 2 หนุ่มขอเล่นมุขภาษาไทย ยิ่งสร้างความประทับใจในบุคลิกอันน่ารักของเขาทั้งคู่ ทั้งคำถามที่ว่า ปลาอะไรมี 2 หน้า? ที่คำตอบคือ ปลาทูน่า และ แมวอะไรขับรถไม่ได้? ซึ่งหลังจากคนดูส่งเสียงตอบขึ้นมาบนเวทีว่า แมวเล้า Noah ก็จัดแจงตบมุขว่า เมาแล้ว แถมในช่วงหนึ่ง Devendra ยังหยิบโพยประโยคภาษาไทยออกมาอ่านยืดยาว กลายเป็นไฮไลต์ที่เหนือความคาดหมายอยู่ไม่น้อย แต่กลับสร้างความเป็นกันเองให้เกิดขึ้นในโชว์ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

มากไปกว่านั้น การให้เกียรติศิลปินถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่องสำหรับ Devendra เขากล่าวถึง จีน มหาสมุทร ที่เล่นเปิดให้คอนเสิร์ตเมื่อคืนนี้ รวมถึงเพื่อนใหม่ที่ชื่อว่า Yellow Fang (วงดนตรี 3 สาวสัญชาติไทยที่ฝีมือไม่ธรรมดา) รวมถึงการยกย่องศิลปินอย่าง Jonathan Richman ว่าเขียนเพลงรักได้อย่างยอดเยี่ยม และอยากทำได้เช่นนั้นบ้าง ซึ่งเขาก็แอบซ่อนความในใจดังกล่าวไว้ในเพลง “Jon Lends a Hand” ต่อเนื่องด้วย “Linda”, “Daniel” และ “Mi Grenita” เป็นต้น ที่ยังคงความเพลิดเพลินไว้อย่างเต็มเปี่ยม

โชว์ร่วมกับโปรดิวเซอร์คู่บุญ Noah Georgeson

โชว์ร่วมกับโปรดิวเซอร์คู่บุญ Noah Georgeson

 

แต่ใช่ว่าเราจะได้ยินเพียงเสียงกีตาร์ในโชว์นี้ Noah พกคีย์บอร์ดไซส์กะทัดรัดมาสร้างสุ้มเสียงบางอย่างให้เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งลูปกลิ่นอายดรัมแอนด์เบสในเพลง Golden Girls” รวมถึง “Find Shelter” ที่ Noah ขอโชว์เสียงร้องอันลุ่มลึกบ้าง ปิดด้วยเพลงเซ็ตสุดท้ายอย่าง Never Seen Such Good Things”, “Fooling’” และ “Celebration” รวมถึงอังกอร์ตามเสียงเรียกร้องอันดังกระหึ่มในเพลง “Carmentica” ที่ทั้งสองยกเก้าอี้ออก และยืนเล่นมันเสียเลย และที่ชอบมากๆ คือการที่ Noah เล่นกีตาร์ไฟฟ้าด้วยสำเนียงกีตาร์สแปนิช! จบโชว์ไปอย่างอิ่มเอม และรอยยิ้มบนใบหน้าฉีกกว้างขึ้นกว่าเดิม

แม้ว่าจะฉาบหน้าด้วยดนตรีสไตล์โฟล์คหรืออะคูสติกป็อปที่หลายคนมองว่าเล่นง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ Devendra Banhart สามารถทำให้เพลงที่ดูเหมือนง่ายกลับมีเสน่ห์ได้อย่างน่าฉงน แม้ว่าเขาจะรับหน้าที่ในพาร์ตริทึ่มเป็นหลัก แต่ Devendra กลับดีไซน์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เรียกได้ว่าเป็นไลน์กีตาร์ที่เราแทบไม่เคยได้ยินมาก่อน ยิ่งเมื่อมาผสมผสานกับลูกโซโล่ของ Noah Georgeson ที่มาน้อยๆ แต่ทรงพลังเหลือเกิน ส่งเสริมให้ตัวเพลงนั้นเต็มทุกโสตประสาท รวมไปถึงเสียงซินธ์จากคีย์บอร์ด และเอฟเฟกต์ต่างๆ ที่ Noah เป็นผู้รับผิดชอบ ช่างเป็นอะไรที่มาถูกที่ถูกเวลาเป็นที่สุด

นั่งเล่นมาทั้งโชว์ ขอยืนเป็นการส่งท้าย

นั่งเล่นมาทั้งโชว์ ขอยืนเป็นการส่งท้าย

 

ยังไม่นับรวมถึงดีไซน์การร้องของ Devendra ที่ไม่ใช่แค่การเปล่งเพลง ประโยคเพียง 1 ประโยค แต่เขากลับสามารถสร้างเสียงออกมาได้หลากหลายรูปแบบ เบาบ้าง แหลมบ้าง ดังบ้าง นอกจากนั้นเรื่องของไดนามิคยังเลิศเลอไร้ที่ติ นั่นยิ่งทำให้มิติการฟังเพลงในเวอร์ชั่นสดนั้นน่าติดตามยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

สิ่งที่น่าปรบมือให้ดังๆ อีกประการของ “HYHBKK Live! with Devendra Banhart Solo” ก็คือบรรยากาศที่ห้อมล้อมผู้ชมเอาไว้ ม่านสีแดงที่ถูกเปิดออกในวินาทีแรกของโชว์เรียกได้ว่าเป็น “แมจิก โมเม้นต์” ก็ว่าได้ เสมือนกับว่าผู้ชมกำลังหลุดเข้าไปสู่ห้องนั่งเล่นของ Devandra และ Noah ที่มานั่งเล่นดนตรีให้ฟังอย่างเป็นกันเอง สลับกับทอล์กโชว์ที่เรารู้สึกเหมือนกำลังดูแสตนด์อัพ คอมเมดี้ที่มีเสียงเพลงมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ประกอบกับไฟ 4 ดวงหลักซึ่งเปลี่ยนสีและองศาไปเรื่อยๆ ที่จัดว่าดีงามมาก ไม่ต้องหวือหวา แต่กลับส่งต่อบรรยากาศที่สอดประสานไปกับตัวเพลงได้เป็นอย่างดี รวมถึงซาวด์ที่ค่อนข้างเคลียร์ ได้ยินชัดตลอดทั้งโชว์ ไม่ต้องมานั่งขมวดคิ้วว่าศิลปินเล่นอะไรกันหนอให้เสียอารมณ์

ความละมุนละไมเต็มขั้นทางเสียงดนตรี

ความละมุนละไมเต็มขั้นทางเสียงดนตรี

 

สิ่งที่ทำให้เสียอารมณ์เพียงอย่างเดียวของโชว์เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาก็คือ การที่ผู้ชมบางส่วนลุกเดินออกไปข้างนอก รวมถึงสลับเดินเข้ามาในฮอลล์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้แสงจากข้างนอกเล็ดลอดเข้ามาตรงช่องประตูบ่อยครั้งมาก เราค่อนข้างสมาธิหลุดไปจากเพลงที่ดังก้องขึ้นมาอยู่ไม่น้อย (รวมถึงศิลปินบนเวทีบางครั้งยังมีมองตาม) เอาเข้าจริงก็อาจเป็นสิทธิของแต่ละคนนั่นแหละ แต่สำหรับโชว์ที่ทุกคนนั่งดูกันอย่างสงบเงียบ แทบไม่มีสมาร์ทโฟนมาคอยบดบังทัศนียภาพที่นานๆ ทีจะเกิดขึ้นแบบนี้ ก็แอบน่าเสียดายเล็กๆ ที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น

ท้ายที่สุด Devendra Banhart ถือเป็นนักสร้างเสียงเพลงและนักเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียว ใครพลาดคอนเสิร์ตเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาก็ขออนุญาตเรียนตามตรงว่า “คุณพลาดเสียแล้ว” ก็ได้แต่หวังว่าทัวร์ครั้งหน้า ชื่อของเมืองไทยอาจจะกลับมาอยู่ในลิสต์ประเทศที่เขาจะกลับมาแวะเวียนอีกสักครั้ง ... กราเซีย!

 

ฟังเพลงของ Devendra Banhart ได้ที่นี่

 

Story and photos by: Chanon B.

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ ความนุ่มละไมในห้องนั่งเล่นแห่งเสียงเพลงของ “HYHBKK Live! with Devendra Banhart Solo”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook