10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา ตอน 3 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา ตอน 3 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา ตอน 3 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยังมีเพลงชาติอีกมากมายที่ตกหล่นและถูกลืมเพราะกาลเวลาที่เนิ่นนานกว่า 40 ปี ครั้งนี้เลยขอสรุปแบบกว้างๆ ทุกสไตล์ ทุกแนวเท่าที่เคยผ่านเข้ามาในช่วงชีวิตนะครับ เน้นคอนเสปต์เดิมครับ อ่านสนุก แฝงสาระบ้างตามสไตล์คนชอบฟังเพลงครับ

 

>> 10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา ตอน 1 และ ตอน 2

 

Copacabana (At the Copa)

Barry Manilow

1978

ปีที่ดิสโกรุ่งเรือง แบร์รี แมนิโลว์ นักร้องนักแต่งเพลงป๊อปก็ทำเพลงดิสโกกับเขาด้วย เพลงนี้อยู่ในอัลบัม Even Now ที่ดีมากๆ มีเพลงชั้นเลิศอย่าง Somewhere in the Night, Even Now, Can’t Smile Without You และเพลงนี้

 

Dancing Queen

ABBA

1976

วงสองหนุ่มสองสาวคู่สามีภรรยาชาวสวีดิชสร้างชื่อมาก่อนหน้าเพลงนี้หลายปีด้วยเพลง Waterloo และ SOS แต่มาทำให้โลกสะเทือนด้วย Dancing Queen เพลงป๊อปที่สมบูรณ์ไปทุกส่วน ยังผลให้ทั่วโลกรู้จักชื่อ ABBA อย่างง่ายดาย

 

Genghis Khan

Dschinghis Khan

1979

ฝีมือวงเยอรมันตะวันตก(สมัยนั้น)ที่เพลงนี้เข้ารอบการประกวดเพลงยูโรวิชัน ซอง คอนเทสต์ ปี1979 แล้วมันก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ดิสโกเธกทุกแห่งในบ้านเราขาดเพลงนี้ไม่ได้ แถมได้รับความนิยมค้างฟ้าข้ามปีไปจนถึงปลายยุคเดอะ พาเลซกันเลยทีเดียว

  

Holiday

Scorpions

1979

รายการท็อปทีน ทาเรนต์ ของคุณวิฑูรย์ วทัญญูเป็นเจ้าแรกที่นำเพลงของ Scorpions มาเปิดแนะนำแฟนรายการ เริ่มจากอัลบัมแสดงสด Tokyo Tapes มาถึงอัลบัม Lovedrive กับเพลงนี้ที่ทำให้คนฟังส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธดนตรีฮาร์ดร็อคหันมาสนใจจากเพลงช้าสไตล์นี้ และมันก็เป็นเพลงที่ทำคนไทยอยากฟังฮาร์ดร็อค วงดนตรีคัฟเวอร์อยากเล่นไปโดยปริยาย

  

Hurt

The Manhattans

1976

อินโทรด้วยเสียงบ่น (จริงๆคือรำพึง) กับท่วงทำนองโซลไพเราะ ทำให้ Manhattans เป็นขวัญใจคนฟังเพลงทั่วโลก และคนฟังเพลงบ้านเราก็รักพวกเขาจากเพลงนี้ ช่วงปี1974-79 เป็นช่วงที่ดนตรีและเพลงคนผิวสีจากฝั่งอเมริกาเข้ามาครองใจคนฟังบ้านเราได้มากมายเหลือเกิน อีกเพลงที่ครองใจคนฟังในช่วงเดียวกันคือ Kiss and Say Goodbye

 

It Never Rains in Southern California

Albert Hammond

1973

ซิงเกิลดังจากอัลบัมชื่อเดียวกันที่ทำให้นักร้องนักแต่งเพลงคนนี้โด่งดังในชั่วเวลาข้ามคืน ติดหูง่าย ร้องตามได้ทันที จึงไม่แปลกที่ใครๆก็ชื่นชอบเพลงนี้ อีกเพลงของเขาที่ดังรองลงมาในบ้านเราก็คือ Moonlight Lady ในปี1976

 

 

Last Train to London

Electric Light Orchestra

1979

เพลงที่เพิ่มฐานแฟนเพลงให้กับวงได้มากอย่างเหลือเชื่อ เพราะยุคนั้นเป็นดิสโก เจฟฟ์ ลินน์ จึงแต่งเพลงดิสโกกับเขาบ้าง และก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม บางคนชอบ ELO เพราะเพลงนี้เพลงเดียว บางคนก็ฟังครั้งแรกจากเพลงนี้ แล้วกลับไปชอบเพลงอื่นๆของวงด้วย ขอบคุณเจฟฟ์ ลินน์

 

Lightnin’ Bar Blues

Brownsville Station

1973

ในบ้านเรากลายเป็นเพลงขี้เมาไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ คนนั่งดริงก์ตามตลาดโต้รุ่งที่มีตู้เพลงหยอดเหรียญ จะกดเล่นเพลงนี้ก่อนเป็นส่วนใหญ่ ฮิตจนมีเวอร์ชันภาษาไทยซึ่งก็ยังเน้นความขี้เมาอยู่ดี คนที่โตมากับยุคนั้นจะทราบดีว่าเพลงนี้ทรงอิทธิพลต่อคนฟังเพลงและรายการเพลงมากเพียงใด

 

Love Hurt

Nazareth

1976

จุดเด่นของคนฟังเพลงบ้านเราอย่างหนึ่งก็คือ ต่อให้คุณเป็นวงร็อค วงฮาร์ดร็อค วงที่เล่นดนตรีหนักแน่น ระทมกบาลขนาดไหน แต่ถ้าคุณทำเพลงช้าออกมาสักเพลง เราก็พร้อมเทหัวใจให้คุณ ทั้ง Wishbone Ash, Grand Funk Railroad, UFO, Scorpions ทำได้มาแล้ว นับประสาอะไรกับวงฮาร์ดร็อคสไตล์อังกฤษดั้งเดิมอย่างวงนี้

 

Love Me, Love My Dog

Peter Shelley

1975

เพลงประเภทนี้เรียก ดังเพลงเดียวจอด แต่ก็ดังจริงๆครับ ร้องกันได้ทั้งเมือง ดังจนสาวๆวัยรุ่นบ้านเราสมัยนั้นจะถามหนุ่มที่มาจีบเธอว่า “รักฉันแล้วรักหมาฉันด้วยไหม” อานิสงส์อีกอย่างก็คือ ทำให้คนหันมารักสุนัขมากขึ้น ปีต่อมาก็มีภาพยนตร์เกี่ยวกับน้องหมา Benji กับเพลงดัง I Feel Love ด้วย

  

Please Mr. Postman

Carpenters

1975

เพลงเก่าตั้งแต่ยุคโมทาวน์ครองอเมริกาที่วง The Marvelettes ร้องไว้ในปี1961 The Beatles ก็เคยนำไปขับร้อง แต่เวอร์ชันของ Carpenters กลับได้รับความนิยมที่สุด ด้วยสุ้มเสียงที่ทันสมัย(ของยุคนั้น) และเพลงของวงก็ประสบความสำเร็จทุกเพลงในบ้านเรา เพลงนี้ก็เลยถูกนำมาเล่นและร้องกันอย่างกว้างขวาง

 

Rasputin

Boney M

1978

กระแสดิสโกทำให้ Boney M ที่ประกอบด้วยนักร้องหนึ่งชาย สามหญิงสัญชาติเยอรมันก้าวมาเป็นศิลปินระดับแนวหน้า นอกจากเป็นเพลงชาติแล้ว ยังเป็นเพลงที่วงดนตรีคัฟเวอร์บ้านเราส่วนใหญ่ต้องเล่น และมีคนขอมากเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ Ma Baker, Rivers of Babylon, Brown Girl in the Ring, Belfast, Sunny, Daddy Cool ล้วนเป็นเพลงฮิตของพวกเขาทั้งสิ้น

 

Seasons in the Sun

Terry Jacks

1973

นักร้องนักแต่งเพลงแคนาเดียนที่ประสบความสำเร็จพอประมาณตั้งแต่ปลายยุค '60s ต้นฉบับเป็นภาษาเบลเยียมโดย Jacques Brel ปี1961 แต่ของแจ๊กส์โด่งดังไปทั่วโลก และขึ้นอันดับ 1 ในอเมริกา บ้านเราก็ค้างอยู่ในความทรงจำคนฟังเพลงอยู่นาน Westlife ก็เคยนำไปร้องด้วยเช่นกัน อีกเพลงของแจ๊กส์ที่บ้านเราชื่นชอบก็คือ If You Go Away

 

Too Much Heaven

Bee Gees

1979

สืบสานความสำเร็จจากอัลบัมซาวน์ดแทร็ก Saturday Night Fever สามพี่น้องทำอัลบัม Spirits Having Flown ตามมากอบโกยความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง นอกจากเพลงนี้ Tragedy ก็เป็นเพลงชาติในปีนั้นด้วยเช่นกัน เป็นเพลงอันดับ 1 ในอเมริกาทั้งสองเพลง

 

When a Child is Born

Johnny Mathis

1976

รายการเพลงสากลทางวิทยุยุคนั้นมักใช้เป็นเพลงเปิดรายการช่วงเช้า กับบรรยากาศอาทิตย์แรกแย้มของเพลง ในอเมริกาเป็นเพลงสำหรับเทศกาลคริสต์มาส ที่แต่งไว้เมื่อปี1974 ซึ่งเวอร์ชันก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งจอห์นนี แมตธิสนำมาขับร้องจนเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

 

You Light Up My Life

Debbie Boone

1977

ขณะที่ดิสโกกำลังมาแรง เพลงป๊อปไพเราะก็ยังขายได้ดีในตลาดเพลง เดบบีเป็นลูกสาวของแพ็ต บูน นักร้องเพลงขวัญใจวัยรุ่นในยุค '50s โจ บรูกส์ เป็นผู้แต่งเพื่อใช้บันทึกในอัลบัมซาวน์ดแทร็กของภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ติดอันดับ 1 ในอเมริกานาน 10 สัปดาห์ เป็นเพลงที่รายการวิทยุบ้านเราเปิดทุกวัน

 

นอกจากเพลงที่กล่าวไปข้างบนแล้ว ยังมีเพลงดังระดับชาติอีกหลายเพลงที่ทุกคนฟังแล้วจะถึงบางอ้อทันที ทั้ง “Beautiful Sunday” ของ Daniel Boone, “Black Superman” ของ Johnny Wakelin, “Go” ของ Tina Charles, “Howzat” ของ Sherbet, “Lady Bump” ของ Penny McLean, “My First Time” ของ Lobo และอีกมากมาย ให้เล่าไปถึงตอนที่ 10 ก็คงจะมีให้พูดถึงได้อีกเรื่อยๆ แต่เอาเป็นว่าตอนนี้หลายคนคงได้ย้อนวัยกันไปสักระยะแล้ว หวังว่าบทเพลงแห่งความทรงจำเหล่านี้จะทำให้ทุกคนฮัมเพลงตามกันอย่างมีความสุขได้บ้างนะครับ

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook