เมื่อ The TOYS กลายเป็น “ของเล่น” กับกระแส Cyberbullying ที่ลุกโชนขึ้นอีกครั้งอย่างไม่รู้ตัว | Sanook Music

เมื่อ The TOYS กลายเป็น “ของเล่น” กับกระแส Cyberbullying ที่ลุกโชนขึ้นอีกครั้งอย่างไม่รู้ตัว

เมื่อ The TOYS กลายเป็น “ของเล่น” กับกระแส Cyberbullying ที่ลุกโชนขึ้นอีกครั้งอย่างไม่รู้ตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แน่นอนว่าในนาทีนี้ สปอตไลท์ในวงการดนตรีได้เฉิดฉายมาที่ The TOYS เจ้าของเพลง "หน้าหนาวที่แล้ว" และ "ก่อนฤดูฝน" อย่างไม่มีข้อสงสัย เขาคือศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองและมีคนต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่ง ณ เวลานี้!

ทว่าชื่อเสียงที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ก็อาจมาพร้อมดราม่าอย่างไม่ทันตั้งตัว ดังเหตุการณ์ที่ The TOYS กำลังเผชิญหน้าอยู่ และกลายเป็นที่พูดถึงอย่างหนักหน่วงอยู่ไม่น้อย

ไล่เรียงมาตั้งแต่ ‘ปรากฏการณ์หน้านิ่ง’ ที่ The TOYS โดนแซวว่า เหมือนแฟนคลับกำลังถ่ายรูปกับสแตนดี้อย่างไรอย่างนั้น, โดนแฉว่ามีชื่อเล่นก่อนเข้าวงการว่า เอม, ข่าวลือว่าเขาไม่ได้แต่งเพลงเองทั้งหมด รวมถึงการไม่ให้เครดิตบุคคลที่ทำงานร่วมกับเขา, โพสต์ในโซเชียลมีเดียที่ต่อว่า The TOYS ว่ามาถึงงานเลท และลงจากเวทีเร็วกว่ากำหนด หรือแม้กระทั่งดราม่าเสื้อฮาวาย

แต่ที่กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์มากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีที่มีชาวเน็ตโพสต์ว่า The TOYS ก็อปปี้เพลงของวง The 1975

โดยเฉพาะเพลง “วันนี้เธอจะบอกรักใครอีก (Who Else?)” ที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ละม้ายคล้ายคลึงกับ “Girls” เพลงดังของ 4 หนุ่มจากเมืองแมนเชสเตอร์เสียเหลือเกิน แถมชาวเน็ตยังคงขุดคุ้ยต่อว่าไม่ได้มีเพลงดังกล่าวแค่เพลงเดียว นำไปสู่การรุมถล่มคอมเม้นต์ในโลกโซเชียลอย่างไม่ยั้งมือ จนถึงขั้นมีการสร้างเพจเฟซบุ๊กแอนตี้ศิลปินหนุ่มคนนี้ออกมา

ในขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกหลายรายที่เรียกร้องให้ชาวเน็ตตั้งสติ ไตร่ตรองถึงข้อเท็จจริงก่อนที่จะโพสต์หรือคอมเม้นต์ใดๆ หรือแม้กระทั่งนักดนตรีบางคน อาทิ กชกร มิ่งบุญ มือกีตาร์วง Peace Piece ที่ออกมาแจกแจง แยกแยะให้เห็นเลยว่า ทั้ง 2 เพลงดังกล่าวมีความแตกต่างกันในเชิงของรายละเอียดดนตรีอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องคีย์ของเพลง เมโลดี้ และอื่นๆ

The TOYS

อันที่จริงเรื่องราวของ “แรงบันดาลใจ” หรือ “Reference” ต่างๆ ในแวดวงดนตรีก็มีให้เห็นกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย Franz Ferdinand, Arctic Monkeys หรือ Two Door Cinema Club ที่กลายที่เป็นวงที่มักจะโดนนำเอามาอ้างอิงอยู่เสมอ หรือหากจะย้อนกลับไปฟังบางเพลงของศิลปินต่างประเทศเหล่านั้น บางครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันทำให้นึกถึงวงดนตรียุคก่อนหน้าที่ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนพวกเขาหลายๆ วงอยู่ดี เสมือนเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจจากศิลปินยุคหนึ่ง ไปสู่อีกยุคหนึ่งก็ว่าได้

Arctic Monkeys

Two Door Cinema Club

ดราม่าหนนี้มีความจริงหรือเท็จผสมปนเปมากน้อยประการใดไม่มีใครทราบ หรือเหตุการณ์นี้จะจบลงเช่นไรก็ยังไม่มีใครรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่แอบแฝงอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว และค่อยๆ ปะทุขึ้นโดยที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไปก็คือ...

Cyberbullying ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมออนไลน์ยุคนี้อยู่วันยังค่ำ

จากผลวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2552 ของ ศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cyberbullying พบว่า เด็ก 824 คนจากตัวอย่าง 2,500 คน เคยโดนกลั่นแกล้งจากผู้อื่นในโลกออนไลน์

เมื่อมี ‘เหตุ’ ก็นำไปสู่ ‘ผล’ ผู้โดนกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์มักต้องประสบพบเจอกับความเครียด สภาพจิตใจถูกบั่นทอน บางคนหาทางออกไม่ได้ ถึงกับตัดสินใจจบชีวิตตนเองก็มีมาแล้ว

ตัดกลับมาที่ประเทศของเราซึ่งมียอดผู้ใช้งานเฟซบุ๊กติด Top 10 ของโลกก็จะสังเกตได้ว่า คราใดที่เกิดดราม่า ไม่ว่ากรณีไหน ช่องคอมเม้นต์ใต้โพสต์ดังกล่าวก็จะร้อนระอุขึ้นมาทันที

บ้างก็เป็นถ้อยความให้กำลังใจ บ้างก็เป็นถ้อยคำด่าทออันหยาบคายที่พาดพิงไปถึงบุพการีของเจ้าของเคส ซึ่งมักจะเกิดจาก “ความรู้สึก” ของผู้ที่ใช้ปลายนิ้วพิมพ์ลงไป ใช่เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดจากการวิเคราะห์หรือไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุเป็นผลสักเท่าไหร่

Matthew Healy นักร้องนำวง The 1975

หากตัดภาพการเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงของ The TOYS ออกไป เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ที่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ นานามาเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต แน่นอนว่า “หน้านิ่งๆ” หรือ “การทำตัวติสท์ๆ” ของเขาอาจทำให้ใครบางคนรู้สึก “เข้าถึงศิลปินคนนี้ได้ยากจัง”

แต่คำถามก็คือ คุณจะให้ค่ากับศิลปินเพียงรูปลักษณ์ภายนอกเพียงเท่านั้นใช่ไหม? และที่สำคัญ คุณจะเอาสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึก” ไปตัดสินใครคนใดคนหนึ่งว่าเขาเป็น "คนไม่ดี" โดยที่ไม่ได้รู้จักบุคคลคนนั้นเป็นการส่วนตัวหรืออย่างไร?

หากเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นความจริง ก็คงต้องว่ากันไปตามความผิดที่เจ้าตัวก่อขึ้น แต่หากมันเป็นสิ่งที่ “ใครก็ไม่รู้” อุปโลกน์ขึ้นมาล่ะ?

การฆ่าคนให้ตายทั้งเป็นเพียงปลายนิ้วที่พิมพ์ลงบนคีย์บอร์ดคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง หากตราบาปนั้นได้ติดตัวบุคคลดังกล่าวไปตลอดชีวิต ใช่เพียงแค่กรณีของ The TOYS เท่านั้น แต่นี่คือสามัญสำนึกของการอยู่ร่วมกันในสังคมมิใช่หรือ?

อย่าให้ “คำบางคำ” ได้ทำร้าย และทำลายชีวิตของคนๆ หนึ่งอีกต่อไปเลยเถอะ

 

Story by: Chanon B.
ขอขอบคุณภาพจาก: What The Duck, GettyImages, iStock
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: digitalagemag.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook