ทำความรู้จัก "อิ้งค์ วรันธร" ผ่าน 5 บทเพลงของเธอ | Sanook Music

ทำความรู้จัก "อิ้งค์ วรันธร" ผ่าน 5 บทเพลงของเธอ

ทำความรู้จัก "อิ้งค์ วรันธร" ผ่าน 5 บทเพลงของเธอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณยังจำกลุ่มเสียงเด็กผู้หญิงใสๆ น่ารักๆ ในเพลงก่อนมะลิบาน ของวงไทม์ได้ไหม? โดยเฉพาะในท่อน... “ก็อยากให้ไฟแดงนานกว่านี้หน่อย เผื่อว่าจะได้ขายมาลัยให้หมด ถ้าหากว่าวันนี้มีไฟเขียวบ่อย ก็คงขาดทุน ไม่มีใครอยากซื้อ มะลิบานๆ”  

หนึ่งในเสียงที่ร้องในท่อนนี้ เป็นเสียงของ อิ้งค์ - วรันธร เปานิล นักร้องสาววัยรุ่นที่กำลังเป็นที่จับตามองของคนฟังเพลงไทย สาวน้อยคนนี้เป็นอดีตนักร้องในสังกัด Kamikaze โดยเริ่มจากเป็นส่วนหนึ่งในเอ็มวี "เด็กวุ่นวาย" ของ โฟร์ - มด และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวง Chilli White Choc ก่อนที่จะขอถอนตัวจากวงและต้นสังกัดเพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยม และหลังจากมุ่งมั่นกับการเรียน เธอก็หวนกลับเข้าสู่วงการบันเทิงอีกครั้ง ด้วยผลงานการแสดงภาพยนตร์ในบทนางเอกของเรื่อง Snap แค่...ได้คิดถึง และได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องในสังกัดของ BOXX Music     

ในบทความนี้ เราจึงขอพาผู้ฟังทุกท่าน ได้เข้าไปทำความรู้จัก  อิ้งค์ วรันธร ผ่านบทเพลงของเธอ โดยในบทความนี้เราจะขอยก 5 บทเพลงที่ไพเราะและควรค่าแก่การพูดถึงมาให้ได้ฟังกัน 

 

 

เหงา เหงา (Insomnia)         

หลังจากเซ็นสัญญาได้ไม่นาน อิ้งค์ วรันธร ได้ปล่อยเพลงแรกมาให้เราได้ฟังกันในปี 2559 โดยเราค่อนข้างประหลาดใจที่ทางต้นสังกัดและตัวเธอ เลือกที่จะใช้สไตล์ดนตรีแบบ Electronic/Synthpop ที่กำลังเป็นสไตล์ดนตรีที่มาแรงในช่วงนี้ของวงการเพลงไทย แต่ในเพลงนี้ ด้วยภาพลักษณ์ของ อิ้งค์ วรันธร เราจึงสัมผัสได้ถึงความหวานความละมุนที่ไม่ได้ถูกเสียงสังเคราะห์ในดนตรีและซาวน์ประหลาดๆ กลบ นอกจากนั้นเนื้อหาในเพลง ยังเป็นเพลงที่ไม่ได้เป็นความรักที่ใสบริสุทธิ์ หากแต่มันคือความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและมีแง่มุมที่ร่วมสมัยของคนในยุคนี้มักจะรู้สึกร่วมกัน เรียกได้ว่าเป็นเพลงเปิดตัวของ อิ้งค์ วรันธร ที่ทำให้เราต้องจับตามองเลยทีเดียว 

 

 

Snap         

นอกจากที่ อิ้งค์ วรันธร จะได้บทนางเอกในภาพยนตร์เรื่อง Snap แค่...ได้คิดถึง แล้ว เธอยังมีผลงานเพลงที่มีชื่อเดียวกับชื่อหนังที่เธอเล่นอีกด้วย หลังจากที่ปล่อยเพลง "เหงา เหงา" ในเพลงนี้ เราจะพบอีกหนึ่งความแตกต่างที่น่าสนใจ แม้ตัวโปรดิวเซอร์และตัวของ อิ้งค์ วรันธร ยังคงปักหลักกับเพลงในแนว Electronic/Synthpop เฉกเช่นเพลงก่อนหน้านี้ แต่สำหรับเพลงนี้ เราจะพบจังหวะที่เร็วมากขึ้น มีส่วนผสมของความเป็น Funky ที่มากขึ้น ทำให้เพลง Snap เป็นเพลงที่ชวนโยกและเต้นรำได้อย่างยอดเยี่ยมยามเมื่อเราได้ยินเพลงนี้ 

 

 

ฉันต้องคิดถึงเธอแบบไหน (Cloudy)         

หลังจากที่ทางต้นสังกัดค่อยๆ ปูทาง ความเป็นนักร้องในสไตล์ Electronic/Synthpop ที่ให้ภาพและบรรยากาศของวงการเพลงในยุค 80’s มาในเพลง "ฉันต้องคิดถึงเธอแบบไหน (Cloudy)" เราจึงพบว่าการเลือกสไตล์และเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางน่าสนใจและเหมาะกับ อิ้งค์ วรันธร เป็นอย่างมากสำหรับเพลงนี้ มันยังเป็นเพลงในสไตล์แบบเดียวกับสองเพลงแรก หากแต่มันช้าลงและเล่นกับเนื้อหาในเพลงที่ดูมีอะไรมากยิ่งขึ้น เนื้อหาในเพลง มันพูดถึงความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยคำถามของคนสองคน เมื่อบวกกับเสียงร้องของ อิ้งค์ วรันธร ซึ่งในเพลงนี้ได้สลัดอารมณ์ของความสดใสมองโลกในแง่บวก เป็นเสียงที่ดูมีความหม่นหมองเจือเข้าไปในน้ำเสียง เป็นเส้นเสียงที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงการเติบโตทางความคิดและอารมณ์ของตัวเธอเอง ถือว่าเป็นพัฒนาการที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

 

ยังรู้สึก (Old Feelings)         

ในบรรดาเพลงของ อิ้งค์ วรันธร ซึ่งพูดถึงความสัมพันธ์ที่มีความร่วมสมัยและเป็นบรรยากาศที่ผสมความสมัยใหม่เข้ากับบรรยากาศที่ย้อนกลับไปในอดีต เพลง "ยังรู้สึก (Old Feelings)" เป็นเพลงที่แสดงศักยภาพของ อิ้งค์ วรันธร ในเรื่องของอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม มันเป็นเพลงที่พูดถึงความทรงจำ อดีตที่เคยหอมหวาน แต่ไม่อาจกลับไปได้อย่างเก่า ความสัมพันธ์ที่ตกค้างและไม่เคยเจือจางไปไหน ซึ่ง อิ้งค์ วรันธร ถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างลุ่มลึกและมีมิติ ในเพลงนี้ทีมทำเพลงของเธอ ก็ปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องดนตรีที่ไม่ได้ประโคมซาวน์ Electronic และลูกเล่นแบบ Synthpop อย่างมากมาย หากแต่ใช้เครื่องดนตรีที่น้อยชิ้นอย่างคีย์บอร์ดเป็นเครื่องดนตรีชูโรง ซึ่งทำให้อารมณ์ของเพลงมันเรียบง่ายหากแต่ยิงตรงเข้าเป้าหมายของความรู้สึกแบบกลับไม่ได้แต่ไปไม่ถึงที่ยังคงตกค้างอยู่ภายในของคนที่ได้ฟังอย่างตรงไปตรงมา

 

 

ขอดาว         

นอกจากการทำงานเพลงของตัวเองแล้ว อิ้งค์ วรันธร ก็ได้ทำงานร่วมกับศิลปินอื่นอีกหลายคน และหนึ่งในการร่วมงานที่ทำให้เกิดงานที่น่าสนใจ ก็คือ การที่เธอได้ Cover เพลงรักที่ไพเราะของ  ปอย Portrait (ตวัน ชวลิตธํารง)  ซึ่งแต่แรกเดิมทีเพลงนี้เป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกของผู้ชายโรแมนติก ผ่านเนื้อหาในเพลงที่หวานเป็นอย่างมาก พอมาในเวอร์ชั่นของ อิ้งค์ วรันธร มันได้ให้ภาพของผู้หญิงที่หวานละมุนอย่างถึงที่สุด เป็นความหวานที่น่าทะนุถนอม หากแต่ความหวานถูกทำให้ไม่เลี่ยนจนเกินไปด้วยการที่เวอร์ชั่นของ อิ้งค์ วรันธร ใช้ดนตรีในสไตล์ Synthpop ในยุค 80’s ส่งผลให้เพลงนี้เป็นความแตกต่างที่น่าสนใจและทำให้เราได้เห็นสีสันใหม่ๆ จาก อิ้งค์ วรันธร อีกด้วย

 

 

จะเห็นได้ว่าเพลงของ อิ้งค์ วรันธร เป็นเพลงที่ยืนหยัดและมั่นคงกับสไตล์ดนตรีในแนว Electronic/Synthpop ที่กำลังกลมกล่อมและมีความเป็นสมัยใหม่จากเนื้อหาและเทคนิคการถ่ายทอดในน้ำเสียงของตัวเธอเอง ซึ่งมันทำให้เพลงของเธอมีสีสันและแง่มุมที่น่าค้นหา บอกเลยว่านี่เป็นศิลปินหญิงของไทยอีกคนที่น่าจับตามองอีกคนในช่วงเวลานี้

ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ boxxmusicrecords  และ FB InkWaruntorn

Story : Kaweewat Boonyuang

อ่านเพิ่มเติม

ทั้งสวย ทั้งเท่ ทั้งเพราะ โอ้ย! ดาวรุ่งพุ่งแรง "อิงค์ วรันธร เปานิล"

7 อดีตศิลปิน Kamikaze กับการเริ่มใหม่ในวงการเพลงหลังหมดสัญญา!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook