ทำความรู้จัก “ต้นกล้วย วรินทร์” นักไวโอลินผู้บุกเบิกวง Orchestra จากชุมชนคลองเตย | Sanook Music

ทำความรู้จัก “ต้นกล้วย วรินทร์” นักไวโอลินผู้บุกเบิกวง Orchestra จากชุมชนคลองเตย

ทำความรู้จัก “ต้นกล้วย วรินทร์” นักไวโอลินผู้บุกเบิกวง Orchestra จากชุมชนคลองเตย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ชุมชนแออัด" ชื่อที่ใครๆได้ยินก็มักจะมองไปในทางไม่ดี ไม่ว่าบ้าน สิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีใครรู้ว่าที่นี่ ก็มีอีกด้านหนึ่งคือ โรงเรียนดนตรีอิมมานูเอล ที่ทำให้เด็กๆในชุมชนคลองเตยได้เริ่มรู้จักและรักดนตรี ให้ทุกคนรู้ว่าที่นี่มีดีกว่าที่คุณคิด และนี่คือจุดเริ่มต้นของเขา ต้นกล้วย - วรินทร์ อาจวิไล

 

 

เริ่มต้นเรียนดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่

“ย้อนไป 17 ปีที่แล้ว เป็นเด็กในชุมชนที่คลองเตย วิ่งเล่นกับเพื่อนตามปกติ อยู่ดีๆก็มีมิชชินนารีจากนอร์เวย์ เข้ามาเปิดศูนย์ที่ชุมชน ชื่อว่า บ้านสรรเสริญ เขามาหาเด็กในชุมชน ไปเรียนดนตรี เขาก็พาเรากับเพื่อนไป แล้วหยิบไวโอลินมาให้ดู เราก็รู้สึกอยากเล่น”

 

ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ได้เล่น

“ตอนแรกไม่ได้มีความชอบ ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย เพราะเราก็เป็นเด็กชุมชน ก็ไม่ได้มีดนตรีแบบนี้เข้ามามากเท่าไหร่ แต่พอเรียนไปซักพักก็รู้สึกว่าเล่นเท่าไหร่ก็ไม่เพราะซักที เลยรู้สึกว่าพอดีกว่า หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปที่นั่นเลยประมาณเกือบปีครับ”

แล้วมันมีอยู่วันหนึ่งเจออาจารย์สอนดนตรีคนเดิมอีกครั้ง สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เพื่อนที่เคยเรียนมาด้วยกัน เขาเล่นเป็นเพลงอื่นๆได้แล้ว เลยรู้สึกว่าอยากกลับไปเรียนอีก เลยได้กลับไปเรียนครับ”

 

ภาพยนตร์ “Seasons Change” คือจุดเปลี่ยน

“ตอนขึ้นมัธยมก็เล่นไวโอลินไปเรื่อยๆ จนหนังเรื่อง Seasons Change ออกมา ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เรา ทำให้รู้ว่าโรงเรียนดนตรีมันมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ ก็เลยขอให้อาจารย์ช่วยติวสอบเข้า Pre-College (ม.4-ม.6) ของมหิดลครับ สุดท้ายก็สอบปฏิบัติผ่านนะครับ แต่ตกทฤษฎีดนตรี เลยรู้สึกไม่อยากเรียนแล้วในตอนนั้น”

“ต่อมาก็มีมิชชินนารีชาวฟินแลนด์ ที่เขาเป็นนักไวโอลินมืออาชีพมาเจอเรา เขาก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีให้เรามากขึ้น หาเพลงเพราะๆให้เล่น จากนั้นผมก็สอบเข้าอีกครั้งก็ได้เรียนที่ม.มหิดล ครับ”

 

 

เริ่มสอนและตั้งวง Immanuel Orchestra วงเยาวชนที่รักเสียงดนตรีจากชุมชนคลองเตย

“หลังจากเรียนจบ ผมก็เล่นวง Thailand Philharmonic Orchestra อยู่1ปี พอต้องเดินทางไปมาคลองเตยบ่อย ผมก็ไม่ค่อยมีเวลาซ้อมครับ เลยสอบ TPO ไม่ติด ก็เลยเริ่มทำวงและเริ่มสอนตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โรงเรียนที่ชุมชน จะมีแขกจากนอร์เวย์ มาเยี่ยมที่โรงเรียน เราก็ต้องเตรียมคอนเสิร์ต เพื่อที่เขาจะบริจาคเงิน เพื่อสนับสนุนครับ แต่ก่อนเราเองก็ไม่มีเงินเรียน เพราะบ้านเราก็ไม่ได้รวยมีตังไปเรียนแพงๆ ช่วงปีแรกที่เข้าไปเรียน ก็มีกลุ่มแบบนี้ที่ให้เงินผมไปหลักแสนเพื่อให้เข้าเรียนที่มหิดล”

 

มองในอนาคตตัวเองทางสายดนตรีไว้อย่างไร

“ถ้าเป็นนักดนตรีอาชีพก็คงช้าไปหน่อยแล้วครับ เนื่องด้วยอายุที่มากขึ้น ปัจจุบันเด็กๆมีโอกาสมากกว่าเรา ได้เรียนแทบทุกวันต่างจากเราตอนเด็กๆได้เรียนอาทิตย์ละชั่วโมงเดียว เลยอยากจะผลักดัน สนับสนุนเด็กๆ ให้ไปถึงฝั่งฝันให้ได้มากที่สุด ผมเลยยึดข้อคิดไว้อย่างหนึ่งอย่างที่อาจารย์เคยบอกไว้ว่า

 "ผมอาจจะเป็นนักดนตรีที่เก่งไม่ได้ แต่ผมสามารถทำให้คนอื่นๆเก่งได้"

อย่างเด็กๆอายุ 10 ขวบที่โรงเรียน ตอนนี้ก็สามารถเล่นเพลงมาตรฐานทั่วโลกอย่าง "Beethoven – Symphony No.5" ได้ สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่อยากจะสอนให้กับคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสได้เล่น ได้รู้จักมากขึ้น"

 

 

การที่เราไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่รู้จัก ดนตรีคลาสสิค มีท้อหรือเหนื่อยบ้างไหม

“ตอนเรียนแรกๆก็ไม่มีแรงบันดาลใจนะครับ พ่อแม่เราก็ไม่รู้จักดนตรีก็เลยไม่เห็นด้วย เพราะบ้านเราคืออยู่ในชุมชน บ้านติดกัน เสียงก็จะดังไปถึงห้องอื่นๆ ก็ต้องเกรงใจเขา อีกอย่างเพราะผมเป็นคนเรียนนั่นนิดนี่หน่อย จับแปปๆก็เลิก  พ่อแม่ก็ไม่ค่อยไว้ใจว่าเราจะเรียนได้ สิ่งนี้เลยกลายเป็นแรงผลักดัน อยากทำให้พ่อแม่รู้ว่าเราตั้งใจและอยากทำจริงๆครับ”

 

อะไรที่เป็นกำลังใจให้อยากเล่นดนตรีต่อไป

“ไวโอลินครับ เพราะดนตรีมันสื่อสารบอกความรู้สึกได้ ทุกครั้งที่ท้อหรือหมดกำลังใจก็จะอยู่กับไวโอลินครับ ทุกวันนี้พ่อแม่ยอมรับ ภูมิใจกับเราครับ ว่าดนตรีมันไม่ใช่แค่เต้นกินรำกิน มันสามารถสร้างรายได้ให้ได้ค่อนข้างเยอะด้วยซ้ำ และอีกอย่างดนตรีมันไม่ได้ได้แค่ตัวเราอย่างเดียว ดนตรีสามารถให้ผู้อื่นให้มีการศึกษาที่ดีได้ครับ”

 

สิ่งที่ประทับใจตั้งแต่เริ่มเล่นดนตรี เป็นครูสอนดนตรี

“สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ เมื่อปีที่แล้ว ผมสามารถพาเด็กๆไปเล่นดนตรีที่นอร์เวย์ ได้ครับ เพราะก่อนหน้านั้นตอนพวกเขามาที่ไทย เขาเห็นความขยัน ความตั้งใจของเด็กเรา เลยเลือกเด็กๆไปเล่นกับพวกเขาที่วงประจำเมืองที่ประเทศนอร์เวย์ครับ แล้วเด็กๆเล่นโดยที่ไม่ตื่นเต้นและเล่นดีมากๆ นี่เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากครับ”

 

 

การที่เราจะทำสิ่งไหนให้ประสบความสำเร็จ จะต้องขยัน ต้องหมั่นเพียร แต่ในบางครั้งการได้รับโอกาส ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไปถึงฝั่งฝันได้เช่นกัน และเขาเป็นผู้ที่ได้รับโอกาสนี้และส่งต่อให้น้องๆที่ชุมชนได้รู้จักกับดนตรี และทำให้พวกเขารักดนตรี นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญ

 

สามารถติดตามพวกเขาได้ที่ FB: Immanuel Music School

Story : Ellie L. 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook