(รีวิว) แหงนหน้ามองฟ้า หลับตาเคลิบเคลิ้มไปกับ “#JAMNIGHT Live! with Homeshake” | Sanook Music

(รีวิว) แหงนหน้ามองฟ้า หลับตาเคลิบเคลิ้มไปกับ “#JAMNIGHT Live! with Homeshake”

(รีวิว) แหงนหน้ามองฟ้า หลับตาเคลิบเคลิ้มไปกับ “#JAMNIGHT Live! with Homeshake”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องยอมรับว่าทำการบ้านไปพอสมควรก่อนที่คอนเสิร์ตประเดิมศักราชใหม่จากผู้จัด HAVE YOU HEARD? อย่าง #JAMNIGHT Live! with Homeshake” จะเกิดขึ้น เพราะแม้ว่าจะชื่นชอบความละมุนละไมขั้นสุดจาก Mac DeMarco อยู่พอตัว ทว่ากับโปรเจกต์วงดนตรีที่ชื่อ Homeshake จาก Peter Sagar อดีตมือกีตาร์ที่ร่วมหัวจมท้ายในทัวร์คอนเสิร์ตของ Mac DeMarco ผู้เขียนก็ติดตามอยู่บ้างประปราย ถือได้ว่าไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของหนุ่มแคนาเดียนผู้นี้ก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อมีโอกาสนั่งละเมียดฟังไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนนอนหรือตอนขับรถก็พบว่า ฝีมือของพ่อหนุ่มคนนี้ไม่ธรรมดาเลยล่ะ

เดินทางถึง About Studio ย่านเลียบทางด่วนในช่วงสองทุ่มกว่าๆ โดยประมาณ ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้มาดูคอนเสิร์ต ณ สถานที่แห่งนี้ ด้วยความสัตย์จริง เราอยากเชียร์ให้บรรดาผู้จัดเหลียวหันมามองที่นี่เป็นหนึ่งในตัวเลือกในภายภาคหน้า งานเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (20 มกราคม 2018) แบ่งออกเป็น 3 โซนอย่างชัดเจนได้แก่ โซนด้านนอกสำหรับนั่งพักผ่อน พบปะ สังสรรค์ โซนตรงกลางที่เป็นจุดลงทะเบียน มีตลาดเล็กๆ ขาย merchandise ของ Homeshake บูธแผ่นเสียงจาก Garage Records และ Trackaddict Records บูธขายเสื้อผ้ามือสองจาก It Came From 90’s รวมถึงบูธขายของที่ระลึกของทางผู้จัดเอง ส่วนโซนด้านในเป็นพื้นที่เอาต์ดอร์จุคนราวๆ 500 คนเศษ และเวทีศิลปินที่ยกพื้นขึ้นมาไม่สูงนัก บรรยากาศใกล้ชิดเป็นกันเอง เหมาะกับคอนเสิร์ตสเกลไม่ใหญ่มาก ยิ่งถ้าอากาศหนาวๆ (ซึ่งเมืองไทยไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่) คงจะชิลล์น่าดู


Game of Sounds

วงเปิดอย่าง Game of Sounds และ Pink Moon ซึ่งมาประเดิมเล่นสดที่งานเมื่อคืนเป็นที่แรกก็ทำหน้าที่ได้ดีใช้ได้เลย เริ่มต้นด้วย Game of Sounds ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ เต๊น - ศิวนัส บุญศรีพรชัย นักร้องนำและมือกีตาร์วง Summer Dress ซึ่งถือเป็นแกนนำ มือคีย์บอร์ด และซินธิไซเซอร์ของวงนี้ ร่วมด้วย เอ๊กซ์ - ธนวัฒน์ ดำรงศิริ มือกีตาร์วง In This Peace กับการรับหน้าที่เป็นมือกีตาร์และนักร้องนำ อาร์ม - ธนพล อนันตกฤตยาธร มือกลองจากวง Super Goods และ น็อต - ภาคภูมิ เจริญวิริยะ ที่มาพร้อมตำแหน่งมือเบสที่ใช้ซินธ์เล่น วงนี้มีแนวทางคล้ายคลึงกับเจ้าของงานอย่าง Homeshake อยู่ไม่น้อย ด้วยกรู๊ฟกลิ่นอายโซล อาร์แอนด์บี และฮิปฮอป รวมถึงการเน้นซาวด์จากซินธิไซเซอร์ แอมเบียนต์ต่างๆ ที่นำพาคนฟังจินตนาการไปถึงไหนต่อไหน แม้พาร์ตดนตรีอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำความเข้าใจ แต่ในส่วนของเมโลดี้นี่มีเสน่ห์ของดนตรีป็อปใช้ได้เลย ติดอยู่ที่นักร้องนำที่อาจจะสื่อสารถ้อยความจากในเพลงออกมาสู่คนฟังได้แค่ประมาณหนึ่ง อาจจะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์กันมากกว่านี้


Pink Moon

ต่อด้วย Pink Moon วงอินดี้ป๊อปติดกลิ่นอาย lo-fi หน่อยๆ จาก 4 สมาชิกที่คออินดี้คุ้นหน้ากันเป็นอย่างดีทั้ง ทัต บุนนาค จากวง Basement Tape (ร้องนำ, กีตาร์อะคูสติก), เท็ดดี้ - ธีโอดอร์ แกสตัน แห่งวง Flure (กีตาร์), ตวน-ตวัน ศิริโท ดัคฟาม จาก Cloud Behind (เบส, ซินธิไซเซอร์) และ พิม-ปิยะมาศ หมื่นประเสริฐดี มือเบสวง Yellow Fang ที่ย้ายตำแหน่งไปหวดกลองชุดเสียอย่างนั้น เพลงที่นำมาเล่นก็มีการสลับสับเปลี่ยนระหว่างเพลงของวงที่อาจยังไม่คุ้นหูกันนักอย่าง Radio Silence”, “Time”, “Banshee” กับเพลงคัฟเวอร์ โดยเฉพาะ “ภาพเดิม” ผลงานของวง Basement Tape ที่ตอนนี้พักวงไม่มีกำหนดก็ทำให้คอเพลงอินดี้ส่งเสียงโห่ร้องด้วยความยินดี แม้จะมีความตะกุกตะกักทั้งในเรื่องของเพอร์ฟอร์แมนซ์และซาวด์อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะเบสที่ออกอาการบวมอย่างชัดเจนในเพลงสุดท้าย แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นโชว์ที่ดี โดยเฉพาะเซอร์ไพรส์ของ พิม ที่ไปนั่งอยู่หลังกลองชุด รวมถึงลีดกีตาร์จาก เท็ดดี้ ที่ยังเท่ยังจี๊ดไม่เปลี่ยนแปลง


Homeshake

งานค่อนข้างตรงเวลาทีเดียว สี่ทุ่มเกือบครึ่ง ก็ได้เวลาไฮไลท์ของงานอย่าง Homeshake เสียที Peter Sagar และพลพรรคนักดนตรีอีก 3 คนขึ้นมาเตรียมพร้อมบนเวที แต่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาเรื่องซาวด์ตั้งแต่โชว์ยังไม่เริ่ม ทั้งเอฟเฟกต์ของ Peter เอง หรือแม้แต่เสียงกระเดื่องของมือกลองผู้มาพร้อมกับอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้นก็ยังไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการจะได้ยิน แก้ไขกันอยู่สักพัก อินโทรเพลง Hello Welcome ก็ดังขึ้น นี่คือแทร็คแห่งการต้อนรับคนฟังสู่โลกของ Homeshake อย่างเป็นทางการ ตอนนั้นได้แต่คิดอยู่ในใจว่า “จะเท่อะไรขนาดนั้น”  

ซาวด์ในช่วงแรกของโชว์ยังดูสับสน มาไม่ค่อยเต็มที่เท่าที่ควร แต่กลับลงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ Homeshake ไล่เรียงเพลงจากทั้ง 3 สตูดิโออัลบั้มอย่าง In the Shower (ปี 2014), Midnight Snack (2015) และล่าสุด Fresh Air (2017) มาเล่นสดๆ อย่างต่อเนื่อง “She Can’t Leave Me Here Alone Tonight”, “Heat” และ Every Single Thing” ที่พาคนดูโยกตามกรู๊ฟกันอย่างอิ่มเอม

เสียงร้องแหลม สูง เล็ก บาง ของ Peter Sagar มีเสน่ห์เอามากๆ แม้ใบหน้าของเขาจะค่อนข้างดูอ่อนล้า และมีปัญหากับขาตั้งไมค์อยู่เป็นระยะ (ถึงขั้นถอนหายใจ) แต่ทุกคนใน About Studio ก็ยังคงได้ฟังเพลงป็อปที่โดดเด่นด้วยกรู๊ฟของดนตรีโซลและอาร์แอนด์บี ผสานกลิ่นอาย lo-fi นิดๆ หน่อยๆ แบบไม่มีพัก เนิบนาบบ้าง หรือไม่ก็ชวนขยับแข้งขยับขาประปราย เซ็ตนี้มีทั้ง Faded”, “Getting Down Pt. II (He’s Cooling Down)”, “Call Me Up”, “Khmlwugh” และ Fresh Air” แต่ในช่วงกลางโชว์กลับมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อมีชายชาวต่างชาติร่างใหญ่ขึ้นไปบนเวที โดยมีเป้าหมายจะเซลฟี่กับ Peter ระหว่างร้องเพลงให้ได้ แต่กลับโดนศิลปินหนุ่มดันตัวออกไป พร้อมกับมู้ดในตอนนั้นของ Peter ที่ดูทรงแล้วค่อนข้างหงุดหงิดเอาการ แต่โชคดีที่แฟนเพลงรายดังกล่าวก็ยอมลงจากเวทีแต่โดยดี

ดูเหมือนว่า Peter จะรวบรวมสติอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะซัดยาวรวดเดียวจนจบโชว์ด้วยเพลง I Don’t Wanna”, “Give It to Me”, “Making A Fool of You”, “Michael”, “TV Volume”, “This Way” และ “Home At Last” และลงเวทีไปแบบไม่มีแถม เราไม่อาจทราบได้ว่าโดยปกติ Homeshake ไม่มีอังกอร์อยู่แล้ว หรือไม่สบอารมณ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนกลางโชว์หรือไม่ หรืออาจเป็นเพราะคิดถึงบ้านเต็มทีอย่างที่เขาประกาศออกไมโครโฟน เนื่องด้วยนี่คือโชว์สุดท้ายของเอเชียทัวร์ ก่อนที่เขาจะบินกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่ประเทศแคนาดานั่นเอง


Peter Sagar

อาจเป็นเพราะตัวเพลงของ Homeshake ไม่ได้หวือหวา เน้นไปที่กรู๊ฟและบรรยากาศของเพลงเสียมากกว่า ทำให้โชว์ของพวกเขาไม่ได้มีจุดไคลแมกซ์ระดับพีค ฟังกันโยกกันไปเรื่อยๆ มากกว่า รวมถึงอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าว หลายคนจึงรู้สึกเนือยๆ อยู่ประมาณหนึ่ง เรารู้สึกว่าดนตรีของ Homeshake เป็นอะไรที่ต้องตั้งใจเสพย์กันพอประมาณ ด้วยรายละเอียดของแต่ละไลน์ดนตรีที่แม้ว่าจะไม่ซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้เรียบง่ายแบบฟังครั้งเดียวแล้วเก็ตเลย สิ่งที่ต้องปรบมือให้พวกเขาดังๆ นอกจากเรื่องกรู๊ฟเพลงที่ดีงามสุดๆ แล้ว เรื่องไดนามิกของการเล่นสดนี่ขอคารวะ หนัก เบา เน้น ผ่อน มาครบทุกกระบวนท่า ทำให้แต่ละเพลงมีสีสันในตัวเองที่ต้องยอมในความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

เจ้าของโปรเจกต์อย่าง Peter Sagar เต็มไปด้วยพรสวรรค์ นอกจากน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์หาตัวจับยากแล้ว เขายังมีลูกเล่นแพรวพราวทั้งในเรื่องของการเล่นกีตาร์ เอฟเฟกต์ร้องจำพวกดีเลย์หรือ vocoder ต่างๆ ก็ใส่เข้ามาเพิ่มสีสันได้อย่างมีมิติที่น่าสนใจ แม้หน้าตาจะค่อนข้างนิ่ง ไม่ยิ้มแย้ม ไม่ได้เป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ แต่หากลองหลับตาฟังเพลงของเขา ยังไงก็ยังมีความสุขอยู่ดีนั่นแหละ อีกทั้งฝีมือของวงแบ็คอัพก็ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะมือกลองที่ไดนามิกอย่างเทพ บางเพลงนี่สองตาแทบจะจับจ้องไปตำแหน่งกลองชุดอย่างเดียวเลยด้วยซ้ำ

อีกอย่างที่ขอชื่นชมก็คือกราฟิกวิชวลด้านหลังที่ดึงดูดสายตาสุดๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่างานเมื่อคืนมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอยู่พอสมควร ระบบเสียงในช่วงแรกที่ทำเอางุนงงทั้งคนเล่นและคนดู, ระบบแสง (ในช็อตนั้น) ที่สว่างวาบเข้าตาศิลปินจน Peter ต้องยกมือขึ้นมาบัง แถมยังกล่าวตอนจบเพลงว่า อย่าให้ดวงไฟอันนั้นอีก ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะเดินกลับไปหลังเวทีในทันที และที่ต้องหยิบยกมาพูดถึงอย่างซีเรียสก็คือ การที่มีแฟนเพลงสามารถขึ้นไปบนเวทีโดยไม่มีการ์ดคอยคุ้มกัน ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องอันตรายกับตัวศิลปิน เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่า ผู้ที่ขึ้นไปบนเวทีมีเป้าประสงค์อะไร ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทั้งนี้อยากจะขอฝากไปถึงผู้จัดว่า เรื่องความปลอดภัยของศิลปิน (รวมถึงคนดู) ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงเป็นลำดับแรกๆ ในการจัดคอนเสิร์ตเลยก็ว่าได้ (*** ทราบข้อมูลจากทางผู้จัดภายหลังว่า มีการ์ดคอยดูแลอยู่บริเวณข้างเวที แต่คิดว่าชาวต่างชาติรายนั้นเป็นทีมงานที่มากับวง จึงปล่อยขึ้นไปบนเวทีนั่นเอง ***)

นี่ยังไม่นับรวมผู้ชมด้านหน้าที่ไลฟ์เฟซบุ๊กสลับกับถ่ายวิดีโอค้างอยู่นานสองนาน มีคนดูทำเสียงร้องหยอกล้อกับลีดกีตาร์ในบางเพลงจน Peter ต้องยกมือบอกว่า 'พอได้แล้ว' และมีคนสูบบุหรี่ในพื้นที่รับชมคอนเสิร์ต (เรายืนอยู่บริเวณด้านหน้า และพวกเขาเหล่านั้นก็สูบกันด้านหน้านี่แหละ!) ซึ่งทางผู้จัดก็จัดโซนสำหรับสูบบุหรี่ไว้ให้แล้ว ทว่ากลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่มีสามัญสำนัก พ่นควันท่ามกลางคนอีกนับร้อย ไม่มีความเกรงอกเกรงใจในพื้นที่ส่วนรวม ในจุดนี้คงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการดูคอนเสิร์ตของประเทศไทยที่ยังไร้วี่แววว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคตบ้างหรือไม่

แต่ท้ายที่สุด เมื่อท่วงทำนองของ Homeshake บรรเลง แหงนหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นดาวระยิบระยับตามจังหวะ หลับตาปล่อยตัวปล่อยใจไปเรื่อยๆ เพียงแค่นั้นก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เราได้หลบลี้หนีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในชีวิตได้มากโขทีเดียว

 

Story and photos by: Chanon B.

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ (รีวิว) แหงนหน้ามองฟ้า หลับตาเคลิบเคลิ้มไปกับ “#JAMNIGHT Live! with Homeshake”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook