Yak Fest ความท้าทายครั้งใหม่ของเจ้าพ่อ Festival เมืองไทย "ป๋าเต็ด" | Sanook Music

Yak Fest ความท้าทายครั้งใหม่ของเจ้าพ่อ Festival เมืองไทย "ป๋าเต็ด"

Yak Fest ความท้าทายครั้งใหม่ของเจ้าพ่อ Festival เมืองไทย "ป๋าเต็ด"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับชาวไทยแล้ว การจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีนั้นเป็นเรื่องที่ปกติสำหรับแฟนเพลงชาวไทยที่รักในเสียงเพลง แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ในปัจจุบันนี้ก็มีเทศกาลอีกแบบที่เรียกว่า Lifestyle Festival ที่นอกจากจะมีการแสดงดนตรีแล้ว ยังมีพื้นที่จัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทำอะไรใหม่ๆ

 

หลังจากที่จัดเทศกาลดนตรีแถวหน้าของประเทศอย่าง Big Mountain และงานคอนเสิร์ตของศิลปินไทยมากมาย ล่าสุด เต็ด - ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ป๋าเต็ด ที่คนในวงการเพลงรู้จักเป็นอย่างดี ก็มาพร้อมโปรเจ็คใหม่ Yak Fest ซึ่งคราวนี้เขาได้มาพร้อมเทศกาล Lifestyle ที่จะพาทุกคนเข้าสู่โลกใบใหม่เป็นเวลา 24 ชั่วโมง รวมถึงฟังเพลงจากศิลปินแถวหน้าระดับประเทศ โดยคราวนี้เขาได้จัดในนามบริษัท GAN ซึ่งเขาดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งงานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2018   The Ocean เขาใหญ่

 

 

โดยในงานนี้ ทาง Sanook! Music เองก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ เต็ด ยุทธนา และทีมงานอย่าง ป่าน - ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ ตัวแทนจากหมู่บ้าน Talk Village  อรรถ - อรรถพล ไชยจักร และ ชาลี - ชารีย์ บุญญวินิจ ตัวแทนจากหมู่บ้าน Organic Village รวมถึงสองแร็ปเปอร์ NAZESUS (เอ็ม - จิรังกูล เกตุทอง) พิธีกรการแข่งขัน The War is On จากทีมงาน Rap is Now และ MC KING (เกียร์ - อนุวัฒน์ คำยา) ผู้เป็นแชมป์ซีซั่นแรก ตัวแทนหมู่บ้าน Rap Village และ ตั้ม  - วิศุทธิ์ พรนิมิต หนึ่งในเก้าศิลปินที่ร่วมทำตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ในงาน ถึงการจัดงานครั้งนี้ รวมถึงเรื่องราวความน่าสนใจของการจัด Lifestyle Festival ครั้งนี้

 

จากซ้ายไปขวา ตั้ม วิศุทธิ์, ป่าน ปิยพัทธ์, NAZESUS,  MC KING, ป๋าเต็ด, ชาลี ชารีย์ และ อรรถ อรรถพล

 

เรื่องราวของ ตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ จุดเริ่มต้นแห่ง Yak Fest

ป๋าเต็ด :  “สมัยก่อนถ้าพูดถึงเทศกาล คนจะนึกถึง Music Festival ที่เป็นเทศกาลดนตรี ที่เราจะไปดูวงที่เราชอบ แต่ในยุคนี้จะมี Lifestyle Festival ที่ถึงแม้จะมีดนตรีเป็นธีมหลัก แต่จะมีกิจกรรมหลายอย่างที่เราต้องเลือก ว่าเราสนใจจะเข้าร่วมไหม โดย Yak Fest ก็จะเป็น Lifestyle Festival งานแรกในชีวิตที่ผมจัดเองครับ  

ส่วนที่มาของชื่อนั้น ผมชอบตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ ซึ่งผมจะมีมันเป็นส่วนประกอบทุกงาน ผมเลยมักจะใช้ตุ๊กตาแบบนี้ อย่างเช่นตุ๊กตาป้าอ้วน ที่อยู่กลางเวทีคอนเสิร์ต ซึ่งมันดูเด่นแต่สามารถเก็บง่ายเวลาจบงาน ก็เลยชักชวนศิลปินแถวหน้ามาร่วมดีไซน์ตุ๊กตาตัวนี้อย่างเช่นคุณ ตั้ม  - วิศุทธิ์ พรนิมิต จาก hesheit ที่เขาทำตุ๊กตาน้องมะม่วง หรือ P7 พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ ศิลปินสตรีทอาร์ต มาทำงานด้วย ผมอยากให้ตุ๊กตาตัวนี้มีคนมาถ่ายรูปด้วย ซึ่งมันก็ทำให้คนดูรู้สึกฮึกเหิมเพราะความยิ่งใหญ่ของมัน

พอผมมาคิดดูเลยเลือกชื่อ Yak Fest เพราะงานนี้มีตุ๊กตายักษ์ และทุกคนที่เข้างานจะกลับบ้านพร้อมความรู้สึกที่ตัวโตขึ้น  เพราะจะได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ได้ทานสิ่งที่ไม่เคยทาน รวมถึงพบคนที่ไม่เคยพบ ได้ฟังอะไรที่ไม่เคยฟัง ทุกคนที่เข้าร่วมงานจะกลับมาพร้อมโลกที่กว้างขึ้นครับ”

 

 

 

5 ชุมชนที่แตกต่างอย่างลงตัว

ป๋าเต็ด : "หลังจากนั้นผมก็คิดต่อว่าคนดูจะมาทำอะไรต่อ เพราะมันเป็น Lifestyle Festival ก็เลยหาสังคม Community หรือกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน  จนได้มาเป็น 5 กลุ่ม ก็มี กลุ่มนักพูด แบบ TED TALK  ตามด้วย สังคมออแกนิก ที่กินอาหารที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งจริงๆเขามีอะไรมากกว่าที่เห็น หรือแม้แต่ สังคมฮิปฮอป ที่คนแร็ปกัน มาแบทเทิลกัน และก็มี สังคมปาร์ตี้ ที่นำคนเป็นพันมาเต้นด้วยกัน ก่อนปิดท้ายด้วย สังคมคนทานเเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ตอนนี้สนใจ เครื่องดื่มประเภทคราฟท์

ผมก็จะเอา 5 สังคม นี้มาทำเป็นหมู่บ้านให้เหมือนชุมชนที่มีทุกอย่าง มีความบันเทิง มีอาหาร มีกิจกรรมให้ทำ เหมือนหมู่บ้านที่มีลานวัด ที่ทานอาหาร หรือแม้แต่ตลาดนัดและแหล่งซื้อของ รวมถึงอนุสาวรีย์หรือเจดีย์ เราก็ไปเชิญคน 5 กลุ่มนี้มาสร้างหมู่บ้าน พอมีตุ๊กตายักษ์ ก็เป็นเมืองที่มีตุ๊กตายักษ์เป็นแลนด์มาร์ก มีศิลปินนักร้อง รวมถึง 5 หมู่บ้านที่ต่างกัน หลายคนที่ได้ยินเกี่ยวกับหมู่บ้านเหล่านี้ก็อยากไปงานกันแล้ว ถึงแม้จะไม่ทราบว่ามีศิลปินคนดังคนไหนมาร่วมงานบ้าง"

 

 

ความไม่เชี่ยวชาญในด้านไหนเลยคือความท้าทายขั้นสูงสุด

ป๋าเต็ด : “ทุกสิ่งที่ผมพูดเกี่ยวกับงานนี้คือผมไม่มีความเชี่ยวชาญเลย ทั้งการทำตุ๊กตา การทอล์ก การจัดปาร์ตี้ เลยต้องมีหัวหน้าหมู่บ้านมาดูแล และให้พื้นที่พวกเขาในการแสดงความเป็นตัวเองและกลมกลืน และเราจะคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไร เพราะถ้าทำคอนเสิร์ต คือผมจะรู้เลยว่าตรงไหนจะเป็นแบบไหน เล่นเพลงนี้คนดูจะรู้สึกอย่างไร

แต่งานนี้มันต่างจากเทศกาลดนตรีมาก เพราะถ้าคนไปงานนี้ 5 คน ทั้ง 5 อาจมีความรู้สึกที่ต่างกันไปเลย อย่างเช่นบางคนอาจอยู่หมู่บ้านเดียว บางคนอาจไม่นอนและสนุกไปทุกที่ คือจบงานแล้วอยากคุยกับทุกคนว่ารู้สึกอย่างไร คือ Music Festival เป็นการชมดนตรีอย่างเดียว แต่งานนี้มันมีมากกว่านั้นมาก”

 

 

สีสันที่แตกต่างจาก 5 หมู่บ้าน

ชาลี ชารีย์ : “ผมเป็นตัวแทนหมู่บ้านออแกนิก จาก Thailand Young Farmers ในหมู่บ้านพวกเราจะมีการแต่งตัวโดยหญ้าและพืช ซึ่งมีน้อง มะเดี่ยว อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ ที่เขามักจะมาพร้อมแฟชั่นแปลกใหม่ ก็จะเปลี่ยนชุดทุกคนให้เป็นเผ่าเดียวกัน และมีอาหารที่ทำจากธรรมชาติ มีเห็ดและผักที่ต้องเก็บเกี่ยวเอง ต้องจับกุ้งสดๆมาทำอาหาร มันจะเป็นการกินจากธรรมชาติ เหมือนที่หลายคนเคยจินตนาการ แล้วเราจะมีกิจกรรมทำ ประติมากรรม  จากขยะ โดยคุณ TAM:DA  (ธนวัติ มณีนาว) อย่างเช่น ชามและแก้ว ที่คุณนำมาจากหมู่บ้านอื่น

ส่วนศิลปินในโซนผมจะมี ชาติ สุชาติ แซ่เห้ง, Greasy Café (อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร), วง Yena, The Paradise Bangkok Molam International Band และ DJ Maft Sai ที่จะทำเพลงที่เป็นแนวออแกนิกหน่อยๆ และจะมีกิจกรรม การเมาอย่างสุภาพจากเหล้ากล้วย และเหล้ากาแฟที่ทำกันแบบสดๆ ตอนเช้าก็ของวันที่สองก็จะมีการทานข้าวเช้าจะเป็น ปิคนิคทานในป่าครับ”

 

ป่าน ปิยพัทธ์ :  “ผมเป็นตัวแทนหมู่บ้าน  Talk Village by Glow หมู่บ้านเราจะมีเวทีการเล่าเรื่องครับ ก็จะมีพี่ เต๋อ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (ผู้กำกับหนังเรื่อง Mary is happy, Mary is happy และ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ) ที่พูดเรื่องการทำหนัง เขาก็จะเล่าหนังที่อยากทำ และวงดนตรีอย่าง ลิปตา ที่จะเล่นดนตรีและเล่าเกี่ยวกับวงการเพลงไทย รวมไปถึงพี่ ซัน - มาโนช พุฒตาล ที่จะเล่านิทานพร้อมเล่นกีตาร์ไปพร้อมกัน และ การเล่าเรื่องตลก Stand up comedy ของ A – Katanyu หรือ ยู กตัญญู สว่างศรี ก่อนปิดท้ายด้วยโชว์เล่าเรื่องผีของ ป๋อง กพล ทองพลับ ตอนกลางคืนในป่า

ในหมู่บ้านเราจะมีการช่วยคนที่เข้ามาเยี่ยมชมได้รู้จักตัวเองรวมถึงได้เป็นผู้เล่าเรื่อง จะมีพื้นที่ให้ได้พบเพื่อนใหม่ และมีทีมงานคนที่จะทำหนังสือพิมพ์เพื่ออัพเดทเกี่ยวกับกิจกรรมใน 5 หมู่บ้านในรุ่งเช้าของวันที่สอง อาหารในหมู่บ้านก็จะมีกาแฟหอมๆ ให้ทุกคนได้ดื่มกัน อันนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆของ Talk Village  ครับ”

 

NAZESUS : “หมู่บ้าน Rap Village  ของเราจะช่วยค้นหาความเป็นแร็ปเปอร์ในแขกที่เข้ามาเยี่ยมชมครับ จะมีโชว์ของศิลปินรุ่นใหญ่ Thaitanium, ฟักกลิ้ง ฮีโร่ (ณัฐวุฒิ ศรีหมอก) และศิลปินหน้าใหม่มาแรง อย่าง Youngohm (รัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์) ในหมู่บ้านเราจะมีการสอนแต่งเพลงแร็ปจาก แร็ปเปอร์อย่าง MC KING, OAKER และ REPAZE แชมป์จากรายการที่ทาง Rap is Now จัด และจะมีกำแพงกราฟิตี้ให้ทุกคนถ่ายรูปและอาหารอย่าง American Fast Food ให้ทุกคนได้ทานกันครับ”

 

ป๋าเต็ด : “อีกสองหมู่บ้านจะเป็น Trasher ที่มาพร้อมธีม Bitchyland นางแพศยา ก็จะมีการสอนแต่งหน้าจาก แก๊ง หิ้วหวีไปหิ้วหวีมา มีอนุสาวรีย์ปากคว่ำที่ได้ไอเดียจากคุณ กิ๊ก สุวัจณี ไชยมุสิก และ Pool party ที่มี เจนนี่ ปาหนัน มาแต่งตัวเป็นนางเงือก มีเวทีคาราโอเกะ ที่เป็นเพลงแซ่บๆ แนวตบกันอย่าง “ฉันรักผัวเขา” บนเวทีคอนเสิร์ตมีศิลปินตัวแม่สไตล์นางแพศยาอย่าง จีน กษิดิศ สำเนียง, หลิว - อาจารียา พรหมพฤกษ์ และอีกหลายคน ที่ผมติดต่อไป ในหมู่บ้านจะมีการให้เขียนหนังสือนินทาคนที่เราเกลียดและให้เผาทิ้ง ส่วนอาหารในหมู่บ้านก็จะเป็นอาหารแซ่บๆอย่างส้มตำครับ

 

สุดท้ายก็จะเป็นหมู่บ้าน B Village คือตามกฎหมายไทยจะบอกอะไรไม่ได้ ก็จะมีแก้วเปล่าและ เครื่องดื่ม  หลายอย่างให้ลอง ก็สามารถเลือกได้เต็มที่ ส่วนการแสดงก็จะมีโชว์ที่เหมาะกับการจิบเครื่องดื่มอย่าง The TOYS (ธันวา บุญสูงเนิน) และ Big Ass ครับ”

 

 

เรื่องราวสุดประทับใจ ของผู้สร้างตุ๊กตายักษ์

ตั้ม วิศุทธิ์ : “ผมเองเป็น 1 ใน 9 สมาชิกทีมทำตุ๊กตายักษ์ที่ยืนอยู่ คือไม่ได้อยู่หมู่บ้าน คือเป็น แลนด์มาร์ค ยืนอยู่เฉยๆ แต่ก็จะเป็นอะไรที่ให้แรงบันดาลใจ เป็นตุ๊กตาสูงใหญ่ 5 เมตร ซึ่งคนที่เงยหน้ามองจะเห็นท้องฟ้าและโลกกว้าง มันจะเป็นโซนเงียบๆครับ

ผมเองดีใจที่ได้มาร่วมงานนี้และ รู้จักคนที่ไม่คิดว่าจะได้เจออย่าง แร็ปเปอร์ หรือคนที่ชอบชีวิตออแกนิก หรือแม้แต่คนที่ชอบเล่าเรื่อง เอาจริงๆแค่ผมมาเจอตัวแทนแต่ละหมู่บ้านวันนี้ก็รู้สึกว่าตัวใหญ่ขึ้นแล้วครับ คือทุกคนจะมีความคิดของเขา ผมเองก็อยากไปร่วมงานเพื่อรู้จักอะไรใหม่ๆครับ”

ป๋าเต็ด : “ในขณะที่ผมเดินทางเจอสื่อกับน้องๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองใหญ่ขึ้นละครับ อย่างน้องๆทีมออแกนิกก็ทำให้ผมรู้ว่า Crayfish ไม่ใช่กุ้ง หรือ กั้ง น้องๆที่ได้ร่วมเดินสายบางคนก็เริ่มแร็ปได้แล้ว ผมอยากให้คนที่มาร่วมงานได้แลกเปลี่ยนกัน บางคนอยากมาแค่ Trasher ปาร์ตี้ แต่เชื่อว่าหลายคนที่มาอยากจะทำอะไรมากกว่าที่ตั้งใจไว้ ผมอยากให้ทุกคนตัวใหญ่ขึ้น ในปีหน้าผู้ร่วมงานอาจจะมาในฐานะคนดูแลหมู่บ้านหรือคนทำตุ๊กตาก็ได้ คือเราไม่หวังว่าคนจะอยู่ในตลอด 24 ชั่วโมง คนที่มาร่วมงานก็อยู่รีสอร์ทข้างนอกได้ หรืออยู่โซนแคมปิ้ง แต่ก็น่าจะมีบางคนที่พยายามอยู่ร่วมสนุกโดยไม่นอนเลยตลอด 24 ชั่วโมง”

 

 

การเติบโตของ Yak Fest ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ป๋าเต็ด : “งานนี้เป็นงานแรกของบริษัท GAN หวังว่ามันจะเป็น Festival ประจำปี อยากให้มันโตไปมากกว่านี้มีหลายหมู่บ้าน มีหลายตุ๊กตา หรือศิลปินต่างชาติมาร่วมออกแบบตุ๊กตา หรือแม้แต่มีหมู่บ้านต่างชาติอย่างเช่นหมู่บ้านช็อกโกแลตจากเบลเยี่ยม (หัวเราะ) ครับ ต้องรอชมกันครับ”

 

 

สำหรับงาน Yak Fest  นั้นจะจัดขึ้นในวันที่ The Ocean เขาใหญ่ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2018 โดยสามารถซื้อบัตรราคาพิเศษได้ในวันที่ 21-31 ธันวาคม ในราคา 1,600 บาทจากราคาเต็ม 2,000 บาท ได้ที่ Thaiticket Major พร้อมรับตุ๊กตาเป่าลมขนาดตั้งโต๊ะเป็นของที่ระลึก ซึ่งใครที่อยากเปิดโลกทัศน์ให้เห็นโลกใบใหม่ ห้ามพลาดงานดีๆ แบบนี้ เป็นอันขาด

Story : Sidhipong W.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook