(สัมภาษณ์) Japanese Breakfast กับก้าวต่อไปของศิลปินอเมริกัน-เอเชียน | Sanook Music

(สัมภาษณ์) Japanese Breakfast กับก้าวต่อไปของศิลปินอเมริกัน-เอเชียน

(สัมภาษณ์) Japanese Breakfast กับก้าวต่อไปของศิลปินอเมริกัน-เอเชียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึง Japanese Breakfast แล้วคุณจะนึกถึงอะไร?

ถ้าเป็นสมัยก่อน เราคงตอบว่า ข้าวสวยร้อนๆ กับซุปมิโสะ อาหารเช้าง่ายๆ ที่ใช้เวลาทำไม่นาน ทานง่าย รสชาติถูกปาก และทำให้อิ่มท้องได้ถึงช่วงกลางวัน

แต่ตอนนี้ความหมายของว่า Japanese Breakfast ของเราเปลี่ยนไปแล้ว

เพราะจากนี้ไป Japanese Breakfast คือชื่อของศิลปินที่มาพร้อมกับดนตรีนุ่มนวลชวนฝัน คลอเคล้าไปกับเสียงนุ่มๆ ของ Michelle Zauner ศิลปินสาวหน้าตาน่ารักชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ที่เลือกใช้ชื่อ Japanese Breakfast เป็นชื่อในวงการศิลปินเดี่ยวของตัวเอง หลังจากออกมาจากวงเก่าอย่าง Little Big League เพื่อออกมาดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตราบจนนาทีสุดท้าย ซึ่งต่อมาเรื่องราวของเธอก็กลายมาเป็นบทเพลงเศร้าๆ หม่นๆ ในอัลบั้มแรกอย่าง Psychopomp จนตอนนี้เดินทางมาถึงอัลบั้มที่สอง ที่มีชื่อว่า Soft Sounds from Another Planet และเธอมีโอกาสได้มาทำการแสดงสดให้พวกเราได้ชมกันในวันที่ 4 ธันวาคม 2560 นี้ด้วย

 

หลังจาก Psychopomp อัลบั้มแรกของเธอประสบความสำเร็จจนเธอสัมผัสได้ว่าหลายๆ คนชอบงานของเธอตั้งแต่ซิงเกิลแรกที่ออก เธอได้รับการติดต่อจากค่ายเพลงมากมายที่อยากให้เธอเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด แต่เธอเองก็มีความคิดที่จะหยุดทำเพลงแล้วตั้งใจทำงานประจำของเธอให้ดีที่สุดต่อไป อย่างไรก็ตามโชคชะตาก็นำพาให้เธอกลับมาสู่ถนนสายดนตรีอีกครั้ง มิเชลเล่าว่า "ฉันไม่ได้รับเงินเดือนและตำแหน่งใหม่จากงานประจำอย่างที่ฉันหวัง และ Mitski (ศิลปินสาวเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกันที่เธอรู้จัก) ก็มาชวนฉันไปร่วมทัวร์คอนเสิร์ต Puberty 2 อัลบั้มที่ 4 ของเธอพอดี นั่นจึงเป็นสัญญาณที่ทำให้ฉันตัดสินใจว่า ฉันยังกลับมาเดินทางในสายนักดนตรีได้ ฉันจึงลาออกจากงาน เซ็นสัญญาเป็นศิลปินภายใต้สังกัด Dead Oceans และร่วมออกทัวร์คอนเสิร์ตกับ Mitski จนในที่สุดคอนเสิร์ตต่างๆ ก็เริ่มมาต่อคิวกันเรื่อยๆ จนทำให้ฉันได้เดินทางไปทำการแสดงสดในเมืองต่างๆ จนถึงทุกวันนี้"

อัลบั้มแรก Psychopomp มิเชลได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงจากการจากไปของคุณแม่ของเธอ จึงทำให้ซาวด์ของเพลงเต็มไปด้วยอารมณ์หม่นหมอง เศร้าสร้อย แต่ก็ลึกกินใจใครหลายๆ คน เมื่อมาถึงอัลบั้มที่สอง Soft Sounds from Another Planet แน่นอนว่าแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงย่อมเปลี่ยนไป กลายเป็นการก้าวข้ามผ่านความโศกเศร้าในอดีต และใช้ชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง มิเชลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ตอนนั้นเพื่อนของฉันคนหนึ่งกำลังจะเดินทางไปประเทศจีน เขาเล่าให้ฉันฟังเกี่ยวกับโปรเจ็คดาวอังคารที่ชื่อ Mars One ทฤษฎีดวงดาวของเขาทำให้ฉันประทับใจมาก จนทำให้อัลบั้มนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของวิทยาศาสตร์เล็กๆ เรื่องนี้ด้วย” และนอกจากนี้อาจจะเป็นเพราะเธอผ่านอะไรมามากหลังจากที่เธอสูญเสียแม่ของเธอไป จึงทำให้เธออยากก้าวเข้ามาในโลกอันกว้างใหญ่มากขึ้น เรียนรู้และสัมผัสกับโลกแห่งความแฟนตาซี ที่ๆ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ

 

คลิกเพื่อฟัง Japanese Breakfast อัลบั้ม Soft Sounds from Another Planet

softsoundsfromanotherplan

 

อัลบั้มล่าสุด Soft Sounds from Another Planet มิเชลเลือกที่จะทำงานกับ Craig Hendrix โปรดิวเซอร์คนเก่าคนแก่ที่เคยช่วยทำอัลบั้มแรกให้กับวงเก่าของเธออย่าง Little Big League ซึ่งเธอเล่าว่าบรรยากาศในการทำงานด้วยกันในครั้งนี้แตกต่างไปจากตอนที่ทำงานร่วมกับวงมาก “มีเพียงฉันและ Craig ในห้องอัดที่เต็มไปด้วยเครื่องดนตรีมากมาย พวกเราลงมือเล่นเครื่องดนตรีเหล่านั้นด้วยตัวเอง ฉันขอยกเครดิตให้ Craig เต็มๆ ในเรื่องของการเรียบเรียงเพลงในอัลบั้มนี้ ฉันรู้สึกว่าเราสองคนทำงานเข้ากันได้ดี ฉันเชื่อใจในตัวเขาได้เสมอ และเชื่อว่าเขามีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีจริงๆ” นอกจากนี้เธอยังมีโอกาสได้นั่งแต่งเพลงในสตูดิโอมากมายหลายต่อหลายเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยทำสมัยที่เธอแต่งเพลงให้กับวง Little Big League

นอกจากความประทับใจที่ได้ทำงานกับคนเก่งๆ ที่เธอชื่นชมแล้ว เธอยังมีความทรงจำดีๆ ในระหว่างที่เธอทำอัลบั้มนี้ด้วยกันกับ Craig อีกด้วย “เมื่อตอนที่เราทั้งคู่เดินทางไปอัดเสียงของเครื่องดนตรีระฆังราว (tubular bells) ที่ University of the Arts เมืองฟิลาเดลเฟีย เราได้ออกไปดื่มแชมเปญด้วยกันที่โรงแรมสวยๆ มองดูผู้คนออกมาทานอาหารมื้อสายในช่วงใกล้เทศกาลวันหยุด ฉันรู้สึกว่าหลังจากการทำงานแล้วได้มานั่งชมบรรยากาศเหล่านี้ เป็นความทรงจำที่พิเศษสำหรับฉันเลยล่ะ”

 

หากใครคิดว่าการมาเยือนเมืองไทยในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเธอ ขอบอกเลยว่าคุณคิดผิด เพราะเธอเคยมาเมืองไทยหลายครั้งแล้ว ที่บังเอิญไปกว่านั้นคือ พ่อของเธออาศัยอยู่ที่ภูเก็ตอีกด้วย “ฉันเคยแวะเวียนมาหาพ่อที่ภูเก็ตพร้อมกับสามีของฉันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเคยแวะเที่ยวที่กรุงเทพด้วย” ดังนั้นสิ่งแรกที่เธอคิดถึงเกี่ยวกับประเทศไทย ก็คงหนีไม่พ้นพ่อของเธอนั่นเอง

สำหรับเมืองไทยแล้ว เธอคิดว่าเพลง Diving Woman” จากอัลบั้มล่าสุดของเธอเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด “ปีนี้ฉันเพิ่งได้มาดำน้ำเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เมืองไทย และรู้สึกสนุกมาก มาเมืองไทยในครั้งนี้ฉันจะได้เป็น Diving Woman จริงๆ เสียที”

แม้ว่าเธอจะเคยมาเมืองไทยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ฟังเพลงไทยอย่างจริงจัง ดังนั้นหากมาเมืองไทยในครั้งนี้ เธอหวังว่าจะมีใครแนะนำเพลงไทยดีๆ ศิลปินไทยเจ๋งๆ ให้เธอได้ฟังบ้าง แต่สำหรับเพลงเกาหลี และกระแส K-POP ที่มาแรงจนดังไปทั่วโลก ด้วยความที่เธอมีเชื้อสายเกาหลี เธอดีใจที่มีคนมากมายตื่นเต้นไปกับวัฒนธรรมต่างๆ ของเกาหลีในตอนนี้ เธอเล่าย้อนไปในอดีตว่า “ในสมัยที่ฉันยังเป็นเด็ก ตอนนั้นแทบจะไม่มีเด็กคนไหนเลยที่รู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศเกาหลี” จึงนับว่าเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญของวัฒนธรรมเกาหลีบนเวทีโลกจริงๆ

 

japanese-breakfast-2

 

สำหรับเธอแล้ว ความเป็นเอเชียนถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่พิเศษ เธอจึงเป็นหนึ่งในศิลปินอเมริกันเชื้อสายเอเชียนที่พร้อมจะสนับสนุนศิลปินเชื้อสายเดียวกันให้มีความกล้าที่จะออกมาเดินถนนสายนักดนตรีกับเธอด้วย โดยเธอกล่าวว่า “หลังจากที่ฉันเป็นศิลปินเต็มตัว มีศิลปินอเมริกัน-เอเชียนรุ่นใหม่หลายคนที่มาสารภาพกับฉันตรงๆ ว่า พวกเขามีกำลังใจที่จะทำเพลงต่อไป เมื่อเห็นฉันประสบความสำเร็จในการเป็นศิลปิน ดังนั้นฉันจึงหวังว่าจะได้เห็นศิลปินอเมริกันเชื้อสายเอเชียนมากขึ้นในอนาคต เพื่อที่ฉันจะได้คอยตามสนับสนุนและเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ”

เพราะความเป็นเอเชียนเป็นสิ่งที่พิเศษ ถึงเธอเลือกที่จะใช้ชื่อเรียกตัวเองว่า Japanese Breakfast แม้ว่าเธอจะมีเชื้อสายเกาหลี แต่เธอชอบคำว่า Japanese ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอเชียได้ชัดกว่า ส่วนคำว่า Breakfast บ่งบอกถึงความเป็นอเมริกัน ดังนั้นสองคำนี้จึงสื่อถึงตัวตนที่เธอเป็นได้อย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นเธอชอบทานอาหารเกาหลีเป็นอาหารเช้ามากกว่า “เมื่อไรก็ตามที่ฉันอยู่บ้าน ฉันมักจะทานข้าวกับไข่ลวก ราดด้วยน้ำมันงา ทานคู่กับกิมจิ หรือซุปถั่วเหลือง และอาจจะทำกิมจิทานเองด้วย”

 

เป้าหมายในการเป็นศิลปินของมิเชลก็ไม่มีอะไรมาก เธอกล่าวว่า “ฉันอยากจะเป็นศิลปินที่ทำเพลงต่อไปเรื่อยๆ ท้าทายตัวเองด้วยการพยายามทำเพลงใหม่ๆ ที่ทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่จะให้คนอื่นๆ ได้ฟัง นอกจากนี้ฉันอยากที่จะถ่ายทอดความเป็นตัวเธอผ่านสื่อต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะพักหลังๆ มานี้ฉันสนุกกับการปลดปล่อยความเป็นตัวของตัวเอง และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านวิดีโอมากขึ้น และฉันหวังว่าเธอจะยังมีโอกาสที่จะได้เผยแพร่ผลงานเพลงของ Japanese Breakfast ให้คนทั่วโลกได้รู้จักกันมากขึ้นด้วย”

ครั้งนี้เป็นการมาเมืองไทยครั้งที่เท่าไรแล้วเธอไม่ได้บอก แต่เชื่อว่าจะต้องเป็นครั้งที่เธอตื่นเต้นที่สุดแน่ๆ เพราะเธอมาพร้อมกับการแสดงสดจากเพลงใหม่ในอัลบั้มของเธอ รวมถึงเพลงเก่าๆ ที่แฟนๆ หลงรัก ให้ทุกคนที่ประเทศไทยได้ฟังเป็นครั้งแรก เธอรอคอยที่จะได้พบได้คุยกับแฟนๆ และให้สัญญากับพวกเราด้วยว่าเธอจะเต็มที่กับโชว์ชนิดที่ว่าจะเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่แฟนๆ จะไม่มีวันลืมแน่นอน เพื่อที่เธอจะได้กลับมาเล่นที่นี่อีกครั้งในโอกาสหน้าอีกด้วย

 

หวานทั้งเพลง ทั้งคำพูดแบบนี้ มีหรือที่เราจะไม่หลงรักเธอกันอย่างหัวปักหัวปำแบบนี้ อย่าลืมไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ กับดนตรีแนว Dreampop นุ่มนวลชวนฝันของเธอกันได้ใน HYHBKK Live with Japanese Breakfast วันที่ 4 ธ.ค. นี้ ที่ Rockademy โดยผู้จัดใจดี Have You Heard? หาซื้อบัตรได้ที่ Ticketmelon รายละเอียดคอนเสิร์ต คลิกที่นี่

 

 

____________________

Story : Jurairat N.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook