(สัมภาษณ์) Alt-J เพลงกับงานศิลปะ และคำตอบของฉายา The New Radiohead | Sanook Music

(สัมภาษณ์) Alt-J เพลงกับงานศิลปะ และคำตอบของฉายา The New Radiohead

(สัมภาษณ์) Alt-J เพลงกับงานศิลปะ และคำตอบของฉายา The New Radiohead
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนเพลงชาวไทยคงได้หนำใจ และดื่มด่ำกับดนตรีแอ็บสแตรคของ Alt-J กันไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ทุกคนที่ได้ชมพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “สมกับที่รอคอย” ไม่ว่าจะเป็นดนตรีที่โหมกระหน่ำแม้จะเป็นแค่วง 3 ชิ้น วิชวลบนเวทีที่เล่นแสงและสีกับแสง LED และการจัดพื้นที่บนเวทีที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และเสียงร้องของ Joe Newman และ Gus Unger-Hamilton ที่ประสานเข้ากันได้เป็นอย่างดี เป็นคอนเสิร์ตดีๆ อีกงานที่แฟนเพลงต่างประเทศจะต้องอิจฉาที่ Alt-J บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาหาพวกเราถึงที่ได้ขนาดนี้

อ่านต่อ >> (รีวิว) Alt-J เรียบง่าย แต่ทรงพลังราวกับผลงานศิลปะชั้นเยี่ยม

 

Sanook Music มีโอกาสได้สัมภาษณ์สองสมาชิก Joe Newman (กีตาร์/ร้องนำ) และ Gus Unger-Hamilton (คีย์บอร์ด/คอรัส) ก่อนที่พวกเขาจะขึ้นไประเบิดความมันบนเวทีในช่วงเย็น ทั้งสองมาพบปะสื่อมวลชนด้วยท่าทีสบายๆ และยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมทักทายพูดคุยกับพวกเราด้วยรอยยิ้มตลอดการสนทนา เชื่อว่าประเทศไทยคงทำให้พวกเขารู้สึกสบายๆ ราวกับได้ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

 

pb270128

 

มาเมืองไทยครั้งแรก ก็ต้องถามถึงความรู้สึกที่ได้มาเมืองไทยกันก่อน กัสเล่าว่า "ผมชอบอากาศ อาหาร เบียร์ ของที่ระลึกเจ๋งๆ ของที่นี่มาก" แต่ที่ประทับใจมากๆ น่าจะเป็นเรื่องที่บัตรคอนเสิร์ตในไทยของพวกเขาขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรกๆ ที่ประกาศขายบัตร พูดถึงเรื่องนี้ โจก็ยิ้มแก้มปริ "ครั้งแรกที่ได้ยินข่าว พวกเราแทบไม่อยากจะเชื่อว่าพวกเราจะเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากขนาดนี้" และหากถามถึงดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทย แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ค่อยรู้จักเครื่องดนตรีไทยเท่าไร แต่ก็มีไอเดียที่จะผสมเสียงจากเครื่องดนตรีต่างๆ ในอัลบั้มของพวกเขาเช่นกัน โดยกัสตอบไปยิ้มไปว่า "ไม่แน่ว่าพวกเราอาจจะออกอัลบั้มแบบ Thailand Edition แล้วทำเพลงที่มีเครื่องดนตรีไทยเล่นอยู่ด้วยก็ได้"

ครั้งนี้พวกเขามาทัวร์คอนเสิร์ตในฐานะศิลปินที่ประเทศไทย แต่หากพูดถึงคอนเสิร์ต หรือเทศกาลดนตรีที่พวกเขาเคยไปในฐานะแฟนเพลง โจตอบว่า "พวกเราประทับใจบรรยากาศของคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรี Ypsigrock Festival ที่ประเทศอิตาลี เราได้ชมการแสดงของวงดีๆ อย่าง Django Django ด้วย"  แต่สำหรับสถานที่ที่ได้ไปแสดงคอนเสิร์ตเองแล้วประทับใจมากที่สุด กัสตอบว่า "ผมชอบห้องบอลรูมที่ชื่อ Chicago ใน American Ballroom มีคนดูอยู่ 4,000-5,000 คน เป็นที่ที่เต็มไปด้วยการตกแต่งแนวปราสาท รูปปั้นต่างๆ ในทุกๆ ด้านของห้อง มันสวยมาก" ส่วน โจขอเลือกที่บ้านเกิดในเมือง Leeds เป็นที่โปรด "เพราะผมจะได้เจอแฟนเพลง เพื่อนๆ แฟนของผม และครอบครัวในคอนเสิร์ต เล่นเสร็จก็ได้กลับไปนอนที่บ้านให้หายคิดถึงด้วย"

 

 pb270138

 

เพลงของ Alt-J มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เนื่องด้วยโครงสร้างเพลงในแต่ละเพลงไม่ได้มีรูปแบบที่เหมือนเพลงทั่วไปที่มีท่อนเริ่ม ท่อนคอรัส ท่อนสอง ท่อนก่อนจบ แล้วจบด้วยคอรัสอีกครั้ง หากแต่เป็นเพลงที่มีเนื้อเพลง จังหวะของเพลงที่แปลก แตกต่างแต่ลงตัว "พวกเราได้แรงบันดาลใจในการทำเพลงจากการดูหนังฟังเพลงในยุคเก่าๆ ชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะเพลงของศิลปินเล็กๆ วงของเพื่อนๆ มักให้แรงบันดาลใจในการทำเพลงมากกว่าการฟังเพลงจากศิลปินดังๆ ที่มีชื่อเสียง" กัสกล่าวถึงแรงบันดาลใจการทำเพลงของ Alt-J ที่ทำให้พวกเขาสร้างสรรค์เพลงได้ไม่เหมือนใคร

เราอาจสงสัยว่า ศิลปินมืออาชีพอย่าง Alt-J จะมีวันไหนที่รู้สึกว่าสมองตัน คิดอะไรไม่ออก แต่งเพลงไม่ได้บ้างหรือไม่ คำตอบคือแทบจะไม่เคย "พวกเรามักจะสำรวจตัวเองเสมอว่าพร้อมจะแต่งเพลงหรือเปล่า ถ้าไม่พร้อมพวกเราก็หยุดคิดเรื่องนี้ไปก่อน รอจนกว่าจะได้แรงบันดาลในการแต่งเพลงจริงๆ แล้วค่อยเริ่มต้นเขียนเพลง" โจเล่าให้ฟังด้วยท่าทีสบายๆ ก่อนที่กัสจะเสริมว่า "บางครั้งก็ไม่นาน แต่บางครั้งก็ยอมรับว่าอาจใช้เวลานานเป็นปีๆ เพราะมีอยู่หลายครั้งที่กลับไปหยิบเพลงที่แต่งเอาไว้แล้วขึ้นมา แล้วก็วางกลับลงไปอีกครั้ง สักพักก็หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ อาจจะทำซ้ำๆ อยู่หลายรอบ เพราะฉะนั้นแต่ละเพลงก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน"

แม้ว่าจะมีแรงกดดันมากมายไม่ว่าจะจากแฟนเพลง ครอบครัว สื่อมวลชน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับ Alt-J แล้ว ทุกครั้งที่ขึ้นแสดง พวกเขาไม่ได้รู้สึกกดดันแม้แต่น้อย โจคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า "อาจจะมีวิตกกังวลอยู่บ้างว่าโชว์จะออกมาเป็นอย่างไรในครั้งนี้ แต่ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร ซึ่งถ้าเป็นในช่วงแรกๆ ของการแสดงสดในช่วงที่เพิ่งก่อตั้งวง อาจจะมีทั้งแรงกดดันจากตัวเอง และความวิตกกังวลอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์ต่างๆ ทำให้พวกเราเรียนรู้ที่จะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น แล้วสุดท้ายแรงกดดันหรือความวิตกกังวลมันก็ค่อยๆ ลดหายไปเอง"

 

pb270146

 

อัลบั้มล่าสุด Relaxer ชื่ออัลบั้มมาจากชื่อเพลงที่ Thom Sonny Green (กลอง) เป็นคนแต่ง ซึ่งภายหลังเนื้อเพลงนั้นถูกเปลี่ยนไปเป็นเพลง Deadcrush” แต่สมาชิกของวงเห็นว่า คำว่า Relaxer เป็นคำที่ค่อนข้างติดหู และอธิบายภาพรวมของอัลบั้มได้ดี จึงนำมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้ม

การกลับมาทำอัลบั้มเป็นครั้งที่ 3 นี้ยังได้ Charlie Andrew มาเป็นโปรดิวเซอร์คู่บุญของพวกเขาอีกครั้ง เหตุที่พวกเขาไม่ขอเปลี่ยนไปใช้บริการคนอื่น เพราะพวกเขาเปรียบโปรดิวเซอร์เหมือนกับช่างตัดผม "เมื่อคุณได้เจอกับช่างตัดผมที่มีฝีมือ และทำผมให้ได้ดั่งใจคิดแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเปลี่ยน และถึงแม้ว่าจะเป็นช่างตัดผมคนเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตัดผมทรงเดิมไปตลอด เพราะเพียงแค่บอกไปว่าอยากได้ทรงไหน ช่างตัดผมคนนั้นก็ช่วยตัดแต่งให้ได้ตามที่ขอ และไม่ซ้ำกับแบบเดิมๆ แน่นอน" โจกล่าวถึงการทำงานกับโปรดิวเซอร์คู่ใจเอาไว้ได้อย่างชัดเจน

ถึงแม้จะใช้บริการโปรดิวเซอร์คนเดิม แต่เพลงในอัลบั้มล่าสุดดูแตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย ดังจะเห็นได้จากซาวด์โดยรวมของอัลบั้ม Relaxer ที่จะมีความเป็น classical มากขึ้น บวกกับแรงบันดาลใจที่มาจากการชมภาพยนตร์ย้อนยุคหลายๆ เรื่อง ทำให้เพลงแต่ละเพลงในอัลบั้มเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวของแต่ละฉากแต่ละตอนตามจินตนาการของพวกเขาออกมา เลยทำให้การทำงานในอัลบั้มนี้เป็นเหมือนกับการถ่ายทำภาพยนตร์ ที่เลือกนักดนตรีมารับบทบาทในแต่ละช่วงแต่ละตอนของเพลง ถ่ายทำ ตัดต่อ และเรียบเรียงออกมาเป็นอัลบั้มให้เราได้ฟังกัน

พวกเขาทั้ง 3 คนเลือกที่จะเปิดอัลบั้ม Relaxer ด้วยแทร็คแรก 3WW” (3 Worn Words) แทนที่จะเป็น intro track เหมือน 2 อัลบั้มแรก โจอธิบายว่า "สำหรับพวกเราแล้วเพลง 3WW” เป็นเพลงที่มีช่วง intro อยู่ในเพลงอยู่แล้ว และเป็นเพลงที่จะอธิบายซาวด์โดยรวมของเพลงในอัลบั้มนี้ทั้งหมดได้ดี เราเลยเลือกเปิดอัลบั้มด้วยเพลงนี้"

“House of the Rising Sun” ก็เป็นอีกแทร็คที่น่าสนใจ กัสเล่าถึงการนำเพลงนี้มาทำใหม่ว่า "เราเลือกที่จะหยิบเอาเพลงโฟล์คสมัย 200-300 ปีก่อนมาทำใหม่ แม้ว่าในปี 1964 จะมีวง The Animals เอามาทำใหม่ และเป็นเวอร์ชั่นที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุดเวอร์ชั่นหนึ่ง แต่เราเลือกที่จะเปลี่ยนเนื้อเพลง ปรับทำนองใหม่ เพราะเราไม่อยากทำเพลง cover ราวกับเป็นปกหนังสือ (book cover) ที่เปลี่ยนปกใหม่แต่ข้างในเหมือนเดิม ดังนั้นเวอร์ชั่นนี้จึงสดใหม่ และให้อารมณ์เพลงที่แตกต่างไปจากทุกเวอร์ชั่นที่เคยทำออกมา"

ที่น่าตื่นเต้นมากกว่าปกติ คือการที่เพลง Deadcrush” ของพวกเขาถูกนำไปใช้ในเกมฟุตบอลอันโด่งดังอย่าง FIFA 18 ด้วย เมื่อได้ยินคำถามนี้ กัสกระตือรือร้นที่จะตอบมากเป็นพิเศษ "ในช่วงวัยเด็กพวกเราเองก็เคยมีช่วงเวลาดีๆ ระหว่างที่เล่นวิดีโอเกมกับเพื่อนๆ โดยมีเพลงประกอบ เพลงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกเราคิดถึงช่วงเวลานั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการที่เพลง Deadcrush” กำลังจะสร้างความทรงจำดีๆ ให้กับผู้เล่นเกมคนอื่นๆ ด้วย ก็เลยทำให้พวกเรารู้สึกดี และภูมิใจเช่นกัน"

ถ้าจะให้เลือกแทร็คที่ชอบจากอัลบั้ม Relaxer พวกเขาเลือก In Cold Blood” ให้เป็นแทร็คที่เล่นสดบนเวทีได้สนุกที่สุด Deadcrush” และ 3WW” ก็เป็นเพลงจังหวะช้าไปจนถึงกลางๆ ที่ดีเช่นกัน สุดท้ายพวกเขาเลือก Pleader” เพิ่มด้วย เพราะแต่ละเพลงก็มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป

 

pb270169

 

สำหรับเพลงที่สมาชิก Alt-J อยากจะแนะนำให้แฟนๆ ได้ฟังกันนอกเหนือไปจากเพลงของพวกเขาเองแล้ว กัสขอแนะนำ "อัลบั้ม I’m Not Your Man ของ Marika Hackman (ศิลปินสาวชาวอังกฤษ) เราเคยร่วมงานกับเธอในอัลบั้มที่สอง This Is All Yours และอัลบั้มล่าสุด Relaxer ด้วย" ส่วน Joe ตอบว่า เขาคงไม่ได้แนะนำเพลงอะไรเฉพาะเจาะจง แต่ก็อยากให้ทุกคนได้ฟังเพลงของศิลปินที่เขาฟังตั้งแต่เด็กอย่าง Jimi Hendrix "เขาเป็นศิลปินที่เก่งฉกาจในทุกๆ ด้าน ทั้งเพลง ทั้งฝีมือในการเล่นกีตาร์ และยังเป็นผู้ชายที่เซ็กซี่ที่สุดในทศวรรษที่ 20 ด้วย"

เห็นอย่างนี้หนุ่มๆ ก็ชอบฟังเพลงขณะอาบน้ำกันด้วย กัสยิ้มก่อนจะหันไปถามโจว่า "ปกติพวกเราก็เลือกฟังเพลงแนว classical กันเนอะ" ก่อนที่โจจะเสริมว่า "ผมชอบฟังเพลงในอัลบั้ม Passages ของ Philip Glass และ Ravi Shankar ซึ่งเพลง Pleader” ของพวกเราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงในอัลบั้มนี้ด้วย"

 

ผ่านกันมาถึง 3 อัลบั้มแล้ว แม้ว่าพวกเขาจะไม่ค่อยเผยให้เห็นหน้าตาผ่านสื่อต่างๆ หน้าปกซีดี หรือมิวสิควิดีโอมากมายนัก แฟนๆ เริ่มคุ้นหน้าค่าตาของพวกเขามากขึ้นจากการชมคอนเสิร์ต การแสดงสดของพวกเขาตามงาน และเทศกาลต่างๆ ซึ่งพวกเขาก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่มีคนจำพวกเขาได้มากขึ้น "อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตของพวกเราทำได้ง่ายขึ้น อย่างแดน (Dan Smith นักร้องนำวง Bastille) อาจจะมองว่าการเป็นที่รู้จักมากขึ้นอาจสร้างความยุ่งยากเล็กๆ ให้กับชีวิตเขา เขาอาจจะเป็นคนที่แปลกๆ หน่อย (หัวเราะ) แต่การที่พวกเราเป็นที่รู้จักบ้างเป็นบางครั้งบางคราวก็ยังทำให้พวกเรารู้สึกดีที่ยังมีคนจำพวกเขาได้" กัสตอบพร้อมรอยยิ้ม

ทัวร์กันมาก็รอบโลกแล้ว แฟนเพลงในแต่ละประเทศย่อมตอบสนองต่อการปรากฏตัวของ Alt-J ไม่เหมือนกัน กัสเล่าว่า "แฟนเพลงที่อเมริกาจะค่อนข้างเสียงดัง และเปิดเผย อินกับเพลงของเราระหว่างการแสดงอย่างเต็มที่ ส่วนแฟนเพลงฝั่งยุโรปจะค่อนข้างตั้งใจฟังเพลงแล้วคิดตาม ระหว่างการแสดงก็จะยืนฟังกันเงียบๆ แฟนเพลงฝั่งเอเชียก็มักจะมีของฝากให้พวกเราติดไม้ติดมือกลับบ้านเสมอ" เมื่อเราถามถึงของขวัญที่เคยได้กันมา ทั้งโจและกัสช่วยกันนึก ก่อนจะตอบว่า "ส่วนใหญ่เป็นของทำมือ เช่น สร้อยลูกปัด ขนม ลูกอม พวงกุญแจ และผลไม้แช่อิ่ม"

ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต พวกเขาจะต้องเล่นเพลงเก่งเพลงเดิมซ้ำๆ อย่างBreezeblocks” หรือ Tessellate” หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเขาจะเบื่อกันบ้างหรือไม่ แต่กัสตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า "พวกเรายังยินดีที่จะเล่นเพลงเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่แฟนเพลงยังอยากฟัง" เมื่อเราอ้างอิงถึงเพลงฮิตตลอดกาลอย่าง Creep” ของ Radiohead ที่ทางวงจะไม่ค่อยได้เล่นเพลงนี้เท่าไรนัก โจตอบกลับมาว่า "เพลงของเรายังไม่ฮิตถึงขั้นนั้น ดังนั้นพวกเราจึงเลือกที่จะเล่นเพลงตามใจแฟนๆ มากกว่า" แต่โจก็กล่าวเสริมว่า "แต่พวกเขา (Radiohead) ก็เริ่มหยิบ Creep” มาเล่นใหม่เป็นบ้างแล้วนี่"

เมื่อพูดถึง Radiohead วง Alt-J เป็นวงที่สื่อดนตรีของอังกฤษเคยให้สมญานามพวกเขาเอาไว้ในช่วงแรกๆ ว่าเป็น The New Radiohead โจตอบทันทีเลยว่า "พวกเราชื่นชมผลงาน และเป็นแฟนเพลงของ Radiohead อยู่ตลอด แม้กระทั่งการทำเพลงก็ยังได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงของ Radiohead เช่นเดียวกัน แต่พวกเราคิดว่าการที่พวกเราถูกเรียกว่าเป็น The New Radiohead ไม่ได้หมายความว่า Alt-J เป็นวงที่ทำเพลงเหมือน Radiohead แต่เป็นเพราะแนวดนตรีของ Radiohead และ Alt-J เป็นแนวดนตรีที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และยากที่จะเลียนแบบเหมือนกันมากกว่า"

 

pb270178

 

คำแนะนำจากวงรุ่นพี่ Alt-J ถึงศิลปินรุ่นน้อง โจยิ้มก่อนจะตอบว่า "อยากให้เรียนรู้วิธีการทำงาน และผลงานเด่นๆ ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนเก่งๆ ชมผลงานศิลปะที่แกลเลอรี และฟังคำแนะนำดีๆ จากคุณครู แม้ว่าจะฟังดูเป็นคำแนะนำที่ไม่น่าเชื่อ แต่ครูเป็นคนที่มีความรู้ และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ มากกว่าเรา เราจึงปรึกษาในเรื่องที่เราอยากรู้ลึกๆ กับครูได้ และอย่าลืมซึมซับวัฒนธรรมดีๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการหยิบกีตาร์ ลงมือเขียนเพลง และเริ่มสร้างงานศิลปะของตัวเองขึ้นมาได้ในที่สุด" ก่อนที่กัสจะขอเสริมว่า "ที่สำคัญคือการโฟกัสที่ดนตรี มากกว่าชื่อเสียงเงินทอง รูปร่างหน้าตา รวมถึง social media ต่างๆ เพราะหากเราทำเพลง ทำดนตรีออกมาได้ดี จะมีคนเห็นคุณค่าของงานเรา แล้วอย่างอื่นมันจะตามมาเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราอาจจะไม่ต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเราเองด้วยซ้ำ"

 

แม้ว่าตลอดการสนทนา พวกเขาจะตอบคำถามของเราอย่างสบายๆ เหมือนชีวิตนักดนตรีของพวกเขาไม่มีเรื่องอะไรที่ยากลำบาก แต่เราเชื่อว่าลึกๆ แล้วเส้นทางสายดนตรีของ Alt-J ไม่ได้เรียบง่ายอย่างที่คิดแน่นอน กว่าจะออกมาเป็นเพลงแต่ละเพลง อัลบั้มแต่ละอัลบั้ม รวมไปถึงการแสดงสดบนเวทีแต่ละที่ ล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการคิดอย่างพิถีพิถัน ตกผลึกจนได้เป็นไอเดีย ก่อนจะรังสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะชั้นเลิศให้เราได้ชมได้ฟังกัน เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าการตั้งใจทำงานอย่างหนัก ทุ่มเทให้กับสิ่งที่เราสนใจอย่างสุดตัวอย่างที่พวกเขาทำนี่แหละ ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้เหมือนอย่างพวกเขา

 

 

____________________

Story & Photos : Jurairat N.

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ (สัมภาษณ์) Alt-J เพลงกับงานศิลปะ และคำตอบของฉายา The New Radiohead

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook