100 ปีจะมีสักคน : Jeff Lynne โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

100 ปีจะมีสักคน : Jeff Lynne โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

100 ปีจะมีสักคน : Jeff Lynne โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากนับศิลปินที่อยู่ในวงการดนตรีมาตั้งแต่ยุค The Beatles ครองวงการดนตรีร็อคเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แทบจะไม่เหลือแล้ว แทบจะนับหัวได้ เพราะส่วนใหญ่ถ้าไม่เลิกเล่นดนตรีไปก่อนหน้า ก็เสียชีวิตไปแล้ว ขนาดสมาชิกของ The Beatles เองก็เหลือเพียงสองคน แต่กรณีของเจฟฟ์ ลีนน์นั้นค่อนข้างมหัศจรรย์ อย่างแรก เขาอยู่ในวงการมากว่า 50 ปี แต่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติ Rock and Roll Hall of Fame ในปีนี้เอง

 jeff-lynne-star

 

เจฟฟ์ ลินน์ (เจฟฟรี ลินน์ เกิด 30 ธันวาคม 1947 ที่เบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันอายุ 69 ปี) เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดัง เปี่ยมบารมีที่วงการดนตรีร็อครู้จักดีและยกย่องเขามาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีแล้ว เขาเป็นศิลปินรุ่นน้อง The Beatles ไม่กี่ปี ยังได้รับอิทธิพลจากสี่เต่าทองมาเต็มที่ รวมทั้งดนตรีร็อค แอนด์ โรลที่รุ่งเรืองของยุค 50s ด้วย

ชื่อเสียงของลินน์โด่งดังระดับโลกจริงๆเอาตอนที่เขาทำวง Electric Light Orchestra (ELO) โดยทำหน้าที่หัวหน้าวง แต่งเพลง โปรดิวซ์ และเล่นกีตาร์ โดยมีเคล็ดลับแห่งความสำเร็จตรงที่นำดนตรีร็อค แอนด์ โรลที่เขารักมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีคลาสสิกประเภทเครื่องสาย อาทิ เชลโล ไวโอลิน และผลก็ออกมาลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีและหมู่แฟนเพลงจนกลายเป็นจุดขายที่ไปสู่ความสำเร็จระดับโลกในที่สุด และเหมือนที่นักวิจารณ์ดนตรี แฟนเพลงทั่วโลกต่างก็บอกว่า หากนำเครื่องสายคลาสสิกออกไป ดนตรีของ ELO ก็ไม่ต่างจากดนตรีของสี่เต่าทอง อาจมีรายละเอียดและไพเราะมากขึ้นก็ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยของการบันทึกเสียงในสมัยนั้น บวกกับเซนส์ในการแต่งเพลงที่แทรกความเสนาะหูเข้าไปได้อย่างเป็นธรรมชาติในทุกๆเพลง

 elo1974

ลินน์ เริ่มต้นเส้นทางนักดนตรีอาชีพด้วยวง The Move ร่วมกับเพื่อนรัก รอย วูด เบฟ บีแวน และสมาชิกอีก 2 คน ไม่นานวูดคิดจะทำวงขึ้นอีกวงขณะที่ The Move ยังคงออกอัลบัมอยู่ แต่ต้องการให้อีกวงทำดนตรีที่แตกต่างออกไป จึงเป็นต้นกำเนิดของ ELO โดยพวกเขาทำอัลบัมแรกของ ELO ไปพร้อมกับอัลบัมที่ 2 ของ The Move เมื่อวางตลาด งานของ ELO ประสบความสำเร็จมากกว่า พวกเขาเลยทิ้ง Move หันมาทุ่มเทกับ ELO เต็มตัว แต่เมื่อถึงอัลบัมที่ 2 ELO เพลงที่ลินน์แต่งได้รับความนิยมกว่า วูดน้อยใจจึงแยกตัวไปตั้งวง Wizzard ปล่อยให้ลินน์กับบีแวนประคอง ELO ต่อไป กระทั่งลินน์หาสมาชิกมาเพิ่มในตำแหน่งเครื่องสายคลาสสิกอีก 3 คน ประกอบด้วยไวโอลิน 1 เชลโล 2 และทุ่มเทจริงจังกับ ELO เต็มตัว

งานของ ELO ในยุคแรกยังเป็นร็อคที่มีสำเนียงร็อค แอนด์ โรลอยู่มาก ดังปรากฏในเพลง 10538 Overture ขณะที่เครื่องสายคลาสสิกมีบทบาทเต็มที่ ขณะที่อัลบัมที่ 2 นำเพลง Roll Over Beethoven ของชัค แบร์รีมาเล่น จากนั้นอิทธิพลของเครื่องสายคลาสสิกและเพลงคลาสสิกถูกนำมาใช้ในทุกอัลบัมอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์เพลงระดับซิงเกิลฮิตมากมาย อาทิ Ma-Ma-Ma Belle, Showdown ไปจนถึงยุครุ่งเรืองสุดขีดอย่าง Telephone Line, Sweet Talkin’ Woman, Mr. Blue Sky, Last Train to London, Shine a Little Love ซึ่งเป็นช่วงที่ดนตรีดิสโกได้รับความนิยมสุดขีด ก่อนที่ลินน์จะกลับไปสู่รากเหง้าร็อค แอนด์ โรล โดยทิ้งเครื่องสายคลาสสิกไป กลับมาเป็นวงสี่ชิ้นเลยดนตรีสไตล์เดียวกับที่เขาเพิ่งเข้าสู่วงการ ประกอบกับย่างเข้ายุค 80s กระแสดนตรีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดนตรีของลินน์และ ELO จึงค่อยถูกบดบังโดยดนตรีทันสมัยแนวอื่นๆจนหมดสิ้น และหยุดการทำงานในชื่อ ELO ไว้ในช่วงปี 1986

ตลอดเวลาที่ไม่ได้ทำงานในชื่อ ELO ลินน์ยังทำงานเดี่ยวของตนเอง ตลอดจนไปร่วมเล่นดนตรีและโปรดิวซ์ผลงานให้กับเพื่อนฝูงในวงการหลายคน อาทิ ทอม เพตตี, จอร์จ แฮร์ริสัน, ไบรอัน วิลสัน, เจฟฟ์ ฮีลีย์, โจ คอกเกอร์ และอีกมากมาย ส่วนงานเดี่ยวของลินน์วางตลาดในปี 1990 ชื่อ Armchair Theatre และกว่าจะออกชุดที่ 2 Alone in the Universe ก็ปาเข้าไปปี2016 ทิ้งช่วงห่างกันถึง 26 ปี ซึ่งอัลบัมหลังมีความเป็น ELO เข้มข้นมากจนลินน์ใช้ชื่อว่า Jeff Lynne’s ELO ไปเลย ขึ้นถึงอันดับ 23 ในชาร์ตบิลบอร์ดของอเมริกา

 elo1976

ช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมของ ELO กับสไตล์ดนตรีของตนเองเริ่มจากอัลบัม Eldorado (1974 #16 US) ที่ลินน์เพิ่มสีสันของดนตรีโปรเกรสสีฟ และคลาสสิกเข้าไปอย่างกลมกลืน มี Can’t Get It out of My Head เป็นซิงเกิลฮิต (#9 US) อัลบัมต่อมา Face the Music (1975 #8 US) มี Evil Woman กับ Strange Magic เป็นซิงเกิลฮิต อัลบัม A New World Record (1976 #5 US) เป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงและหลายคนถือเป็นอัลบัมแรกในจำนวน 3 อัลบัมต่อเนื่องที่ดีที่สุดของวง เริ่มจากเปลี่ยนโลโกวงเป็นจานบิน ใช้เครื่องสายคลาสสิกอย่างเต็มที่ และมีซิงเกิลฮิตอย่าง Telephone Line (#7 US) และ Living Thing (#13 US) มาถึง Out of the Blue (1977) คอนเสปต์อัลบัมและแฟนเพลงยกย่องให้เป็นอัลบัมที่ดีที่สุดของวง ยิ่งไปกว่านั้น ลินน์แต่งเพลงไว้มากจนต้องทำเป็นอัลบัมสองแผ่นคู่ เพราะไม่สามารถตัดเพลงทิ้งได้เลย ขายได้กว่า 10 ล้านชุดทั่วโลก มี Sweet Talkin’ Woman (#17 US) Turn to Stone (#13 US) Mr. Blue Sky (#35 US) เพลงนี้ถูกนำไปใช้ในอัลบัมซาวน์ดแทร็กของภาพยนตร์หลายเรื่อง จนทำให้คนรุ่นหลังรู้จัก ELO จากเพลงนี้ ล่าสุดก็จากภาพยนตร์เรื่อง Guardians of the Galaxy Vol.2 

มาถึงอัลบัมสุดท้ายในยุครุ่งเรืองสุดขีด Discovery (1979 #5 US) และเป็นอัลบัมส่งท้ายเครื่องสายคลาสสิกที่เป็นเอกลักษณ์ของวงมากว่า 7 ปี ขณะเดียวกัน อัลบัมนี้ออกในปีที่ดนตรีดิสโกรุ่งเรือง จึงไม่อาจเลี่ยงที่จะมีสำเนียงดนตรีดิสโกในเพลง Last Train to London (#39 US) ซึ่งกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมในดิสโกเธกและคนฟังเพลงทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ถือเป็นการปิดฉากยุครุ่งเรืองของ ELO และของทีมเครื่องสายคลาสสิกไปด้วย นอกจากนี้การแสดงสดของพวกเขายังอลังการ ตื่นตา น่าดูเป็นอย่างยิ่ง เพราะเวทีแสดงถูกจัดเป็นจานบินที่ถูกยกขึ้นมาจากใต้เวที สื่อความยิ่งใหญ่และอิงไซ-ไฟอย่างชัดเจน

 electric-light-orchestra-elo-

 

อัลบัมต่อมาอย่าง Time (1981) Secret Messages (1983) ลินน์นำ ELO กลับไปสู่ดนตรีร็อค แอนด์ โรลที่เป็นรากเหง้าของเขา แต่ก็มีความทันสมัยจากเทคโนโลยีในยุคนั้น แต่ ELO ที่เหลือ 4 คนกลายเป็นวงร็อคธรรมดาวงหนึ่งไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้อัลบัม Balance of Power (1986 #49 US) เป็นงานร็อคที่เกือบจะเป็นงานเดี่ยวของลินน์ไปเลย อันที่จริงในช่วงนั้น ลินน์แทบจะไม่ได้มีใจทำ ELO แล้ว อัลบัมนี้จึงธรรมดามาก อีกด้านหนึ่ง เขาหันไปร่วมงานและโปรดิวซ์อัลบัมให้เพื่อนร่วมวงการอย่าง จอร์จ แฮร์ริสัน ทอม แพตตี รวมทั้งตั้งวง Traveling Wilburys ที่รวมดาวดังในวงการดนตรีไว้ นอกจากลินน์แล้ว ประกอบด้วยรอย ออร์ไบสัน บ๊อบ ดีแลน ทอม แพตตี และจอร์จ แฮร์ริสัน โดยทุกคนใช้ชื่อสมมุติ แต่นามสกุล Wilbury ทั้งหมด ออกอัลบัมมา 2 ชุดคือ Traveling Wilburys Vol.1 และ Vol.3 (ไม่มี Vol.2) ซึ่งได้รางวัลแกรมมีในฐานะวงร็อคที่มีการแสดงยอดเยี่ยมของปี 1989 หลังออก Vol.3 ลินน์ทำอัลบัมเดี่ยวชุดแรก Armchair Theatre ในปี1990 และใช้ช่วงเวลาในยุค90s ร่วมแต่งเพลงและโปรดิวซ์ผลงานให้ศิลปินมากหน้าหลายตา

 jeff-lynne-elo-state2016

ปี 2001 ลินน์กลับมาใช้ชื่อ ELO อีกครั้ง หลังจากบีแวนที่มีสิทธิ์ในชื่อวงซึ่งไปทำงานในชื่อ ELO Part II มาแล้วได้ขายสิทธิ์ครึ่งหนึ่งที่ครอบครองอยู่ให้ลินน์ ชื่อ ELO จึงเป็นของลินน์คนเดียว อัลบัม Zoom (2001 #94 US) ได้ริงโก สตาร์ร จอร์จ แฮร์ริสัน อดีตสองสมาชิกสี่เต่าทองมาร่วมเล่นดนตรี แต่เป็นการกลับมาที่ไม่ถูกจังหวะนัก อัลบัมนี้จึงไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนัก

ย่างเข้ายุค 2000 ลินน์ยังคงร่วมงานกับศิลปินหลายราย ทั้งดานี แฮร์ริสัน (ลูกชายของจอร์จ) โจ วอลช์ (มือกีตาร์ The Eagles) ขณะเดียวกัน ลินน์และริชาร์ด แทนดี (มือคีย์บอร์ดที่ร่วมงานกันมานาน) ก็ไปออกแสดงในงานต่างๆมากขึ้น อาทิ เล่นในงานประกาศผลรางวัลแกรมมีร่วมกับเอด ชีแรน เมื่อปี 2015 รวมทั้งเซ็นสัญญากับ Columbia Records เพื่อออกอัลบัมเดี่ยวชุดที่ 2 Alone in the Universe ล่าสุด ปี2016 ที่ Glastonbury Festival และได้รับเกียรติบันทึกชื่อไว้ใน Rock and Roll Hall of Fame ในฐานะสมาชิกของ ELO

 931752

คงหาไม่ง่ายนักที่จะมีนักดนตรีที่มากความสามารถสักคนสามารถอยู่ในวงการมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี โดยที่ไม่ได้หยุดทำงานเลย ลินน์เป็นหนึ่งในนั้น เป็นคนที่นักดนตรีเพื่อนร่วมวงการให้การยอมรับในความสามารถโดยดุษณี แม้ชื่อของเขาจะถูกจารึกใน Rock and Roll Hall of Fame ช้าไปมาก แต่ในที่สุดความจริงก็คือความจริง เกียรติยศนั้นเขาต้องได้รับสักวันอยู่ดี

 elostagelive

 

10 เพลงของ ELO ที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ

01 Mr. Blue Sky

02 The Whale

03 Living Thing

04 Telephone Line

05 Eldorado Overture~Can’t Get It out of My Head

06 Evil Woman

07 Strange Magic

08 Midnight Blue

09 Last Train to London

10 Sweet Talkin’ Woman

 

 

 

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook