100 ปีจะมีสักคน : Alan Parsons โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

100 ปีจะมีสักคน : Alan Parsons โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

100 ปีจะมีสักคน : Alan Parsons โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อลัน พาร์สันส์ อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นเคยนัก แต่ถ้าเอ่ยถึง Alan Parsons Project เชื่อว่าคอร็อคสายโปรเกรสสีพหรือป๊อปร็อคที่อายุเกิน 20 ปีน่าจะร้อง อ๋อ หรือไม่ก็ดีดนิ้วเป๊าะ เขากำลังจะอายุครบ 68 ปีในวันที่ 20 ธันวาคมนี้แล้ว แต่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีราวกับคนหนุ่มอายุ 25 ประสบการณ์ในแวดวงนี้เกินกว่า 40 ปี หรือเกินครึ่งอายุของเขาเข้าไปแล้ว

00


พาร์สันส์หรือที่คนในวงการให้สมญาว่า “พ่อมดในสตูดิโอ” เป็นคนอังกฤษ คลุกคลีกับวงการดนตรีอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนยุค 70s มีเครดิตอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะผู้ช่วยเอนจิเนียร์ในอัลบัม Abby Road ของ The Beatles ที่ออกในปี1969 และ Let It Be ในปี1970 ทั้งที่เพิ่งเข้าทำงานในแอบบี โรด สตูดิโอในปี 1967 ขณะที่อายุ 18 ปีเท่านั้น

จากนั้นมีส่วนร่วมในผลงานของ The Hollies, Paul McCartney กระทั่งเป็นที่จับตาของคนฟังเพลงทั่วโลกจากตำแหน่งเอนจิเนียร์ในอัลบัม The Dark Side of the Moon ของ Pink Floyd ในปี 1973 ยังผลให้มีวงดนตรีและนักร้องนักดนตรีจำนวนมากขอให้เขาไปร่วมงานด้วย เคยปฏิเสธคำชวนของ Pink Floyd ให้ไปร่วมงานในอัลบัม Wish You were Here ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองสุดในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่ปิดทองอยู่หลังศิลปิน

เขาจะเลือกทำงานกับศิลปินที่เขามองเห็นความสามารถ หรือถ้าศิลปินใหม่ก็เป็นประเภทที่มีแวว มีความสามารถมากพอจนเขายอมรับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปินอังกฤษ อาทิ John Miles (เจ้าของเพลงฮิต High Fly) Pilot ที่ภายหลังเขาดึงเดวิด เพย์ตัน (มือเบส, ร้องนำ) กับเอียน แบร์นสัน (กีตาร์) มาเป็นนักดนตรีใน The Alan Parsons Project (APP) ของตนเอง Al Stewart ในอัลบัม Year of the Cat (1977) งานดังระดับโลก ซึ่งเขาดึงสจวร์ต เอลเลียต มือกลองของอัลมาร่วมงานกับวงของตนเองอีก มีเพียง Ambrosia กับอัลบัมที่ 2 ที่เป็นวงอเมริกัน อัลบัมเดี่ยวของ Lenny Zakatek หลายชุดที่ต่อมาก็ดึงเลนนีมาร้องนำในหลายๆอัลบัมของ APP ทำให้ทราบบุคลิกและอุปนิสัยของเขาว่าเป็นคนเงียบๆ ช่างสังเกต ไว้ใจเฉพาะคนที่เขายอมรับเท่านั้น จากฝีมือของเขา พาร์สันถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีหลายครั้งอีกด้วย

ทั้งนี้ต้องยกนิ้วให้กับการเลือกสรรนักดนตรีและนักร้องในแต่ละอัลบัมของ APP ว่าเลือกได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว เช่น เอริก วูลฟสัน เพื่อนเก่าที่มีโทนเสียงนุ่ม กังวาน มักร้องในเพลงช้า บัลลาด อีกทั้งมีส่วนร่วมในการแต่งเพลงร่วมกับเขาอย่างมากมาตั้งแต่แรก เลนนี ซาคาเทก ร้องเพลงร็อคสนุกที่ต้องใช้พลังเสียงเต็มที่ จอห์น ไมลส์ กับเพลงร็อคทำนองช้าหรือปานกลางที่หนักแน่น นอกจากนี้ แอนดรูว์ พาวล์ คนเรียบเรียงดนตรีและคุมวงออร์เคสตราก็เป็นอีกคนที่เขารู้จักมานานและดึงมาร่วมงานในส่วนของเครื่องสายและท่อนที่ใช้เครื่องดนตรีคลาสสิกและวงออร์เคสตรา

 01eric-woolfson-alan-parsons

02AlanEricAndrew


จากประสบการณ์ทำงานกับศิลปินมากหน้าหลายตา แต่แนวดนตรีที่เขาชื่นชอบคือร็อคและโปรเกรสสีพร็อค แม้จะไม่เด่นชัดมากเหมือนวงโปรเกรสสีฟร็อคระดับหัวแถว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นแก่นอยู่ในผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงดนตรี สีสันในแต่ละเพลง การทำอัลบัมเป็นคอนเสปต์ เป็นเรื่องราวต่อเนื่อง และใช้ Hypnosis ทีมงานออกแบบชื่อดังมาทำอาร์ตเวิร์กให้ ทำให้อัลบัมในยุคแรกตั้งแต่อัลบัมแรก Tales of Mystery and Imagination (1976) I Robot (1977) Pyramid (1978) Eve (1979) The Turn of a Friendly Card (1980) ไปจนถึง Eye in the Sky (1982) ที่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง และมีแฟนเพลงเพิ่มจำนวนขึ้นทุกครั้งที่ออกอัลบัมใหม่ ปัจจุบัน เขาเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัวโดยใช้ชื่อ Alan Parsons ตัด Project ออกไป แต่แนวดนตรีก็ยังไม่ต่างจากอดีต อาจลดความเป็นโปรเกรสสีฟลด เพิ่มเทคโนโลยีสมัยใหม่ในห้องอัดเสียงเข้าไป

ส่วนความสำเร็จในแวดวงดนตรี เขารับตำแหน่งรองประธานบริษัท EMI Studios Group ซึ่งมีแอบบี โรด สตูดิโออยู่ในมือ ไม่นานก็ผละจากตำแหน่ง หันมาทำงานดนตรีที่ตัวเองรักตามเดิม

 03parsonsinstudio


ในบ้านเราเริ่มรู้จักเขาจากอัลบัม I Robot ที่มีเทปผีวางขาย แต่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีแฟนเพลงติดตามกลุ่มใหญ่ก็จากเพลง Time ในอัลบัม The Turn of a Friendly Card และ Eye in the Sky จากอัลบัมชื่อเดียวกัน

 

สิ่งหนึ่งที่แฟนเพลงเสียดายก็คือ เขาไม่ชอบเล่นคอนเสิร์ต ออกอัลบัมในยุค 70-80s มา แต่ไม่ยอมเล่นไลฟ์จนทำให้แฟนเพลงน้อยอกน้อยใจ ทุกคนจดจ่อที่จะได้ชมการแสดงสดมาก แต่ในที่สุดเขากับลูกทีมที่ร่วมบันทึกเสียงอัลบัมกันมานานก็เล่นไลฟ์เป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม ปี 1990 ที่อันต์เวิร์ป เบลเยียม แต่ไม่ได้ถูกนำมาบันทึกเป็นดีวีดีออกจำหน่าย เพราะคุณภาพเสียงและภาพไม่ผ่านมาตรฐานของพาร์สันนั่นเอง จากนั้นก็เล่นไลฟ์เป็นครั้งคราว หลายปีครั้ง เดาว่านอกจากปัญหาคุณภาพเสียงที่อาจจะฟังด้อยกว่าในอัลบัมแล้ว ปัญหาเรื่องนักดนตรีแบ๊กอัปและนักร้องนำในแต่ละเพลงก็ทำให้ปวดหัวเช่นกัน ดังนั้น ไลฟ์ในช่วงสิบปีมานี้ แทบจะใช้นักร้องนำไม่ซ้ำหน้ากันเลย แม้จะเป็นเพลงเดียวกัน ยิ่งเอริก วูลฟสันเสียชีวิตไปแล้ว ยิ่งทำให้ยากขึ้นไปอีก ใครได้ชมไลฟ์ของ APP จึงนับว่าโชคดีเป็นอย่างยิ่ง

 04parsonsonguitart

05


อนึ่ง เราอาจจะรู้จักอลัน พาร์สันในฐานะเอนจิเนียร์ หรือโปรดิวเซอร์เป็นหลัก แต่ในฐานะนักแต่งเพลงและนักดนตรี เขาก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร เป็นศิลปินอีกรายหนึ่งที่มีเทปคาสเสตต์ ซีดี แผ่นเสียงขายในบ้านเราแทบจะทุกอัลบัมอีกด้วย

 

 

10 เพลงที่แสดงเอกลักษณ์และความยอดเยี่ยมที่ผมชื่นชอบของ Alan Parsons Project

01 Sirius~Eye in the Sky

 

02 Time

 

03 If I could Change Your Mind

 

04 Old and Wise

 

05 Shadow of the Lonely Man

 

06 Lucifer

 

07 Game People Play

 

08 The Turn of Friendly Card

 

09 In the Lap of the God

 

10 Genesis Ch.1.V.32

 

 

 

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook