เกร็ดน่ารู้ ของเพลงพระราชนิพนธ์ | Sanook Music

เกร็ดน่ารู้ ของเพลงพระราชนิพนธ์

เกร็ดน่ารู้ ของเพลงพระราชนิพนธ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในการดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีที่ถูกถ่ายทอดผ่านเพลงพระราชนิพนธ์นั้นเป็นที่กล่าวขวัญของพสกนิกรชาวไทย ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moon" และ "Dream Island" ทั้งนี้จึงได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์บางส่วนพร้อมด้วยเกร็ดความรู้ของเพลงพระราชนิพนธ์ดังกล่าวมาไว้ ณ ที่นี่

1.แสงเทียน

เพลงพระราชนิพนธ์ "แสงเทียน" (Candlelight Blues) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน เมื่อปี พ.ศ. 2489  ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย  เป็นเพลงในจังหวะบูลส์ แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น ต่อมาได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2490  

2.  ยามเย็น  

เพลงพระราชนิพนธ์ "ยามเย็น" (Love at Sundown) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ที่ทรง พระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. 2489 ขณะยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา   แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ  เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่พระราชทานให้นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงเต้นในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต (Foxtrot) เหมาะสำหรับการเต้นรำของคนไทยในสมัยนั้น พสกนิกรทั้งหลายต่างประทับใจ และกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมทันที  

3. สายฝน

เพลงพระราชนิพนธ์ "สายฝน" (Falling Rain) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2489  ขณะยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา และโปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงเป็นเพลงที่ 2 ต่อจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน เป็นเพลงแรกในจังหวะวอลซ์ มีลีลานุ่มนวลอ่อนหวาน จึงเป็นเพลงที่นิยมใช้เป็นเพลงลีลาศในขณะนั้น   

4. ชะตาชีวิต

เพลงพระราชนิพนธ์  "ชะตาชีวิต" (H.M. Blues) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ทรงพระรา นิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทสวิตเซอร์แลนด์อีกวาระหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ  เพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต  เป็นเพลงเดียวที่ทรงพระราช นิพนธ์ในแบบบลูส์แท้ๆ โดยไม่ได้มีสเกลอื่นปะปน

5. อาทิตย์อับแสง 

เพลงพระราชนิพนธ์ "อาทิตย์อับแสง" (Blue Day) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงนี้ในช่วงเวลาที่ทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

6. ยิ้มสู้

เพลงพระราชนิพนธ์ "ยิ้มสู้" (Smiles) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่  16 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย  เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจคนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2495

7.  Oh I Say

เพลงพระราชนิพนธ์ "Oh I Say" เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 21 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2498 ขณะแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ  ไม่มีคำร้องภาษาไทย พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อ วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์ "Oh I Say" เป็นเพลงแจ๊สในแนวสวิงง่ายๆ ไม่ซับซ้อนนัก จึงทำให้ติดหูและฟังง่าย

8. สายลม

เพลงพระราชนิพนธ์ "สายลม" (I Think of You) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 25 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2500 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ปี พ.ศ.2500

9. แสงเดือน  

เพลงพระราชนิพนธ์ "แสงเดือน" (Magic Beams) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 27 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2501 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเดือนมีลีลาชดช้อย อ่อนหวาน สง่างาม เหมาะสำหรับเต้นบัลเล่ต์ จึงได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ในงาน สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ต่อมาได้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501

10. เราสู้

เพลงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 นาย สมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ 4 บท จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย ที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง "เราสู้" พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร นายแมนรัตน์ เล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นเสมือนนักประพันธ์เพลง หรือปราชญ์ของโลก คือทรงแต่งสดๆ เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยขึ้นมา เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ทรงเขียนเส้นโน้ตห้าเส้น บนซองจดหมายแล้วทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงออกมาโดยฉับพลัน”

11. รัก  

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 47 ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงสำหรับกลอน สุภาพ 3 บท ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลงนี้ให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์บรรเลงทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกอากาศทาง สถานี จ.ส.100 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2538

ขอบคุณข้อมูลจาก Chaoprayanews และ Kanchanapisek.or.th

Story : Double J

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook