เพลงก๊อปกับลิขสิทธิ์เพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

เพลงก๊อปกับลิขสิทธิ์เพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เพลงก๊อปกับลิขสิทธิ์เพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เรื่องราวที่อยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางของวงการเพลงไทยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของวงไทยวงหนึ่งก๊อปปีเพลงสากลมา แล้วให้เครดิตว่าตัวเองเป็นผู้แต่งและเรียบเรียง กระทั่งเกิดปัญหาจนวงต้องออกมาสารภาพและขอโทษแฟนเพลง ไม่ทันไร บริษัท G ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเพลงไทยก็แจ้งความเอาผิดกับร้านกาแฟที่เปิดเพลงของบริษัทที่อัพขึ้นยูทิวบ์ จนเกิดเรื่องดรามาอย่างกว้างขวางขนาดคนฟังเพลงที่ไม่พอใจพ่วงกระแสเพลงก๊อปของค่ายนี้เข้าไปรวมด้วย จนกลายเป็นว่าบริษัท G ก๊อปเพลงเขามามาก ทำไมตัวเองยังไปฟ้องร้องคนอื่นอีก

ต้องแยกประเด็นออกเป็น 2 เรื่องครับ ประเด็นแรก เรื่องลิขสิทธิ์เพลง จุดนี้บริษัท G ปกป้องสิทธิ์ของตนเอง และไม่ได้ทำเกินเลยจากที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเราจะเอาความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินไม่ได้ เราอาจจะเห็นใจร้านกาแฟ แต่กฎหมายระบุและคุ้มครองสิทธิ์ของเจ้าของเพลงไว้แล้ว ประเด็นที่สอง เรื่องเพลงก๊อปหรือเพลงไทยที่ลอกเอาทำนองเพลงสากลมาใส่เนื้อไทยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของต่างประเทศด้วย เรื่องซับซ้อนและยาวกว่าประเด็นแรกมาก

ว่าถึงประเด็นแรกที่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนหรือชวนดรามาเลย กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองเพลงต่างๆที่มีค่ายเพลงเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนำเพลงของค่าย G ไปหาประโยชน์ในด้านใดก็ตาม เจ้าของสิทธิ์สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ซีดีเพลงไทยส่วนใหญ่จะมีหมายเหตุตัวเล็กๆไว้ในที่ปกหลัง หรือสติกเกอร์ว่า “ซีดีสำหรับฟังเพื่อความบันเทิง” ซึ่งก็เพียงพอแล้วต่อการระบุว่า หากคุณซื้อไปฟังเองที่บ้าน หรือฟังส่วนตัว เป็นสิ่งที่สมควร แต่ถ้าหากนำไปก๊อปลงแผ่นซีดี-อาร์ นำไปแจกจ่ายให้ผู้อื่น หรือเพื่อนำให้ไปเปิดกันเป็นทอดๆ ตรงนี้ผิดและไม่ตรงตามเป้าประสงค์ของการผลิตซีดีออกจำหน่ายโดยต้นสังกัด ซื้อมา แล้วฟังเอง ถือว่าเหมาะสมครับ

ประเด็นที่สอง ต้องร่ายยาวครับ เพราะมันเกี่ยวพันกับหลายๆเรื่อง และต้องย้อนกลับไปสมัยที่เพลงสากลแพร่หลายในบ้านเรา

นับแต่ธุรกิจดนตรีถือกำเนิดอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปลายยุค 50s' ในอเมริกา ดนตรีป๊อปและร็อคแอนด์โรลแพร่หลายไปทั่วโลก ลามมาถึงบ้านเราจนทำให้เกิดวงดนตรีไทยสากลที่เล่นเพลงเนื้อร้องไทย แต่มีท่วงทำนองเป็นสากล ประสบความสำเร็จไล่ตามกระแสโลกไปติดๆ มีสถานีวิทยุเปิดเพลงสากล ศิลปินไทยหันมานำเพลงสากลยอดนิยมมาร้องตามไนต์คลับ และสถานบันเทิงเป็นเรื่องปกติ จุดเริ่มต้นตรงนี้ก็เหมือนกับร้องคัฟเวอร์นั่นเอง และกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นในบ้านเรา


ต่อมาเริ่มมีนักร้องไทยนำเพลงสากลมาร้องโดยเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาไทย บางเพลงก็แปลเนื้อร้องต้นฉบับเป็นภาษาไทย ที่ประสบความสำเร็จมากๆมักเป็นเพลงในยุค 70s' ยุคที่มีวงดนตรีคัฟเวอร์มากมาย มีตู้เพลงหยอดเหรียญ และรายการวิทยุที่เปิดเพลงครอบคลุมทั้งไทยและสากล ตัวอย่างของเพลงไทย แปลเนื้อร้องฝรั่ง ทำนองฝรั่งก็คือ เพลง 9 ล้านหยดน้ำตา ที่นำเพลง "9,999,999 Tears" ของ Dickie Lee มาร้องโดยดอน สอนระเบียบในชื่อไทยว่า “เก้าล้านหยดน้ำตา” ด้วยข้อจำกัดของทำนองเพลง และสัมผัสของภาษา อาจไม่ได้แปลเนื้อเป็นไทยตรงเป๊ะๆ แต่ภาพรวมก็คือ ลอกเพลงต้นฉบับมา แต่ที่พบเห็นมากที่สุดก็คือ เอาทำนองฝรั่งมาใส่เนื้อไทย โดยที่เนื้อไทยไม่ได้แปลหรือเกี่ยวข้องกับเนื้อเพลงต้นฉบับเลย อาศัยเอาสัมผัสภาษาไทยให้ลงตัว ฟังง่าย จดจำง่ายเป็นพอ อาทิ "My First Time" ของ Lobo เป็นเพลง วัวหาย (หรืองัวหาย) ร้องโดยเศรษฐา ศิระฉายา ซึ่งถ้าย้อนไปสมัยเศรษฐาอยู่กับวง The Impossible ก็เป็นยุคที่วงนี้ก๊อปเพลงฝรั่งไว้หลายเพลง ชื่นรัก ก๊อปเพลง "Scarborough Fair" ของ Simon & Garfunkel ไปจนถึงเพลงจากภาพยนตร์วัยรุ่นอย่าง ชื่นชุลมุน ที่ก๊อปเพลง "Puff The Magic Dragon" ของ Peter Paul and Mary เป็นเพลง "ยับ" ร้องโดย ชัยรัตน์ เทียบเทียม


ซึ่งจะว่าไปแล้ว ในยุคที่วงไทยก๊อปฝรั่งในช่วง พ.ศ. 2510 มาจนถึงราวๆ 2522 คนฟังจะไม่ค่อยใส่ใจว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะแม้แต่เทปที่วางขายก็เป็นเทปผีทั้งสิ้น คนฟังสนุกกับการฟังเพลงทำนองฝรั่งที่มีเนื้อไทย ร้องตามได้ มากกว่าจะสนใจเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น เวลาเราได้ยินเพลงเหล่านี้ เราก็แค่รู้สึกว่า อ้อ เอาเพลงนั้นมาใช้ เพลงนี้มาใช้ อย่างน้อยก็เป็นเพลงที่เรารู้จัก และร้องตามได้ ผลตอบรับจากคนฟังจึงชัดเจนกว่าเพลงที่แต่งใหม่แต่งเอง ที่ยังต้องลุ้นต่อด้วยว่าจะได้รับความนิยมหรือไม่ (*ความจริงมีเพลงไทยที่ก๊อปสากลเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผมฟังเพลงไทยน้อยมาก บางเพลงจึงไม่ทราบชื่อและผู้ร้อง ไม่อาจนำมาอ้างอิงได้)


กระทั่งมีการผลิตเทปลิขสิทธิ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยราวปี 2525 โดย EMI มีการกวาดล้างเทปผีขึ้นเป็นระยะ ทำให้เทปผีหลายยี่ห้อต้องหยุดผลิตชั่วคราว แต่ไม่นานก็กลับมาผลิตอีก แต่ใส่ปกขาว แล้วให้ผู้ซื้อไปรับปกสีจากผู้ขายในภายหลัง ดังนั้น ช่วงปี 2525-2532 จึงเป็นช่วงที่เทปลิขสิทธิ์กับเทปผีทำสงครามกันอย่างชัดเจน กระทั่งเทปผีต้องยกธงขาวไปในที่สุด เป็นอันว่าลิขสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายผลงานศิลปินต่างประเทศในรูปแบบของเทปเพลงในประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้องนับแต่ปี 2525 เป็นต้นมา


ขณะเดียวกันลิขสิทธิ์เพลง ไม่ว่าการแต่งเพลง หรือนำเพลงต้นฉบับจากต่างประเทศมาใช้ในเชิงพาณิชย์ยังไปไม่ถึงไหน ประกอบกับก๊อปเพลงกันจนเคยตัว ทำให้ค่ายเพลงใหญ่ชื่อดังหลายค่ายในสมัยนั้นยังปล่อยให้ศิลปินในสังกัดก๊อปเพลงต่างประเทศกันอยู่ แต่อาจเพราะเจ้าของค่ายซึ่งเป็นเสี่ย เป็นเจ้าของทุนไม่ได้ฟังเพลง หรือไม่มีความรู้ด้านนี้ด้วย จึงปล่อยให้ทำงานกันอย่างอิสระ ใครใคร่ก๊อป ก๊อปกันเต็มที่ ดังนั้น แม้ไทยจะมีเทปลิขสิทธิ์ออกมา แต่การทำงานของศิลปินบ้านเราเองยังยึดติดกับการก๊อปเพลงอยู่ ไม่เว้นกระทั่งศิลปินดังที่มียอดขายเทปหลักแสนหรือล้านตลับ


ในแง่ของคนแต่งเพลง โดยเฉพาะทำนองเพลงกลายเป็นอาชีพที่ได้รับเครดิตมากจนถึงมากที่สุด เพราะเพลงจะออกมาไพเราะ น่าฟัง ได้รับความนิยม ขึ้นอยู่กับฝีมือของคนแต่งเพลง ด้วยเหตุนี้การฉวยเอาเพลงสากลที่มีท่วงทำนองไพเราะ ติดหูง่าย มาใส่เนื้อไทยจึงเป็นวิธีที่ง่ายและเห็นผลเร็วที่สุด ดังจะเห็นได้จากเพลงจำนวนมากของค่าย G และค่าย R ที่ออกมาในช่วงปี2526 เรื่อยไปจนถึงปัจจุบัน มักถูกคนฟังเพลงจับได้ว่าลอกก็ไม่ได้ใส่ใจ หันมาใช้วิธีดึงมาเป็นๆท่อนแทน อาจจะเอาจากหลายเพลง หรือเพลงเดียว แล้วบิดตัวโน้ตนิดหน่อย บางเพลงต้นฉบับเป็นเพลงเร็ว ก็ลดให้เหลือจังหวะปานกลางหรือช้า หนักกว่านั้น บางรายหันไปก๊อปเพลงจากศิลปินโนเนม หรือจากประเทศที่ไม่มีคนฟังในบ้านเราให้ความสนใจ ดังจะปรากฏให้เห็นจากสื่อในช่วงไม่กี่ปีมานี้


ถามว่าผิดไหม ผิดเต็มประตูครับ แต่ใครล่ะ จะอยากลงทุนแต่งเพลงเอง ซึ่งยังไม่รู้ว่านายทุนเจ้าของค่ายจะยอมรับหรือเปล่า อีกทั้งเสียเวลาคิดค่อนข้างมาก สู้ก๊อปไปเลย หากเพลงไม่ผ่าน ก็ไปหาเพลงอื่นมาก๊อปต่อ ไม่ต้องใช้สมอง แค่ขยันดูยูทิวบ์บ่อยๆเท่านั้นเอง แต่สิ่งหนึ่งที่นักก๊อปเพลงเหล่านี้ลืมไปก็คือ เขาดูถูกคนฟังเพลงในบ้านเรามากเกินไป คิดว่าเพลงที่ก๊อปมาจะไม่มีใครรู้จัก จึงกล้าก๊อปกันแบบไม่กลัวถูกจับได้ แต่คนฟังเพลงสมัยนี้ฉลาดและรอบรู้มากกว่าพวกเขาหลายเท่า ดังจะเห็นหลายวง หลายศิลปินถูกจับได้ และถูกประณามทางสื่อโซเชียลบ่อยๆ บางรายก็ยืนยันกระต่ายขาเดียวว่าไม่ได้ก๊อป แถมยังเอาใส่เครดิตชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งอีกด้วย สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนต่อหลักฐานที่นักฟังเพลงบ้านเรากระหน่ำแชร์และโจมตี


คนฟังเพลงบ้านเราไม่โง่ ไม่ใช่ไดโนเสาร์ที่ไม่รับรู้ความเคลื่อนไหวในวงการดนตรีเอาเสียเลย พวกเขายังค้นคว้า ไขว่หาวงดนตรี ศิลปินที่ถูกโฉลกรสนิยมของตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะทุกวันนี้หาฟังได้ฟรีๆ ชอบใจแล้วค่อยหาซื้อซีดีกัน อย่าสบประมาทพวกเขา มิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ขึ้นอีก


ทั้งสองประเด็นที่กล่าวมา เป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิ์ด้วยกันทั้งคู่ ประเด็นแรก ละเมิดสิทธิ์ของค่ายเพลงที่ผลิตงานออกมาให้ซื้อไปฟังเอง หรือฟังในกลุ่มเพื่อน เพลงของค่ายที่ปรากฏอยู่ตามแหล่งโซเชียลต่างๆ ค่ายเพลงต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น การนำมาเผยแพร่นอกเหนือจากขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ย่อมเป็นความผิด แต่ไม่ได้ร้ายแรง ดังนั้น การที่จู่ๆบุกไปจับเลย แม้เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ก็จะรุนแรงไป ทั้งที่ตักเตือนกันก่อนได้ ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย ถ้ารู้ตัวบทกฎหมายดีพอ ไม่มีใครอยากละเมิด กรณีที่เกิดขึ้นยังเป็นเหมือนดาบสองคม ค่ายเพลงรักษาสิทธิ์ของตนเอง ขณะที่ผู้บริโภคจะบอยคอตค่ายเพลงไปเลย ได้ไม่คุ้มเสียครับ นอกจากนี้ศิลปินค่ายเล็กๆ หรือที่ลงทุนทำเพลงขายเองก็ออกมาสวนกระแสด้วยการเต็มใจให้คนฟังนำเพลงของตนเองไปเปิดอย่างเสรี ไม่ต้องกลัวเรื่องฟ้องร้อง


ส่วนประเด็นหลังนั้นผิดกฎหมายมากและหนักกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าค่ายเพลงเมืองนอกจับได้ว่าก๊อป จะถูกฟ้องหลายข้อหาเลย ตั้งแต่ก๊อปเพลง ละเมิดสิทธิ์คนแต่ง เจ้าของเพลง ไปจนถึงเพลงที่ก๊อปมาทำกำไรไปแล้วเท่าไหร่อีกด้วย แต่อย่างว่าครับ บางคนมักจะคิดว่า ฝรั่งมองไทยเป็นประเทศยังไม่พัฒนา จะก๊อปก็ก๊อปไปจะขายได้สักเท่าไหร่ ฟ้องไปก็ไม่คุ้มค่าทนาย ฯลฯ แต่ถ้าเรายังก๊อปเพลงกันต่อไป อนาคต อาชีพคนแต่งเพลงก็คงจะค่อยๆหายไปจากวงการนี้ คนก๊อปเก่ง ก๊อปเร็วจะก้าวขึ้นมาแทน ส่วนคนฟังก็คงเลิกฟังเพลงไทย แล้วหันไปฟังเพลงสากลกันหมด หวังว่าเราคงไม่ต้องผจญกับเหตุการณ์นั้นในอนาคตนะครับ แต่ถ้าใครที่ฟังเพลงไทย แล้วจู่ๆเลิกฟัง หันไปฟังเพลงสากลแทน ก็อย่าได้สงสัยเลยครับ เพราะค่ายเพลงบ้านเราไม่พัฒนากันเอง

 

 

ภาพประกอบจาก istockphoto

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook